ไม่พบผลการค้นหา
ผมติดตามกระแสฟีเวอร์ พี่ตูน-อาทิวราห์ คงมาลัย นักร้องวงบอดี้แสลม วิ่ง 2.2 พันกิโลเมตร เพื่อหาเงินบริจาคไปช่วย รพ.ศูนย์ 11 แห่งทั่วประเทศ ด้วยความสนใจ

แง่หนึ่ง สนใจเรื่องการตอบรับจากสังคมว่าเหตุใดถึงมหาศาลขนาดนี้ (ส่วนตัวเคยบอกกับคนรู้จักหลายคนว่า เชื่อว่าคนจะไม่สนใจเท่าครั้งที่วิ่ง 400 กิโลเมตร เพื่อหาเงินช่วยเหลือ รพ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งผมคิดผิด!)

แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็สนใจในแง่ของการทำ “แคมเปญ” ว่าต้องใช้องค์ประกอบอะไรบ้าง ถึงจะเรียกความสนใจของผู้คน กระทั่งบรรลุวัตถุประสงค์ในท้ายที่สุด

สัปดาห์ก่อน ผมเพิ่งมีโอกาสไปเป็นกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจความเห็นจากบริษัทเอเจนซี่โฆษณาที่รับแต่งานเพื่อสังคมแห่งหนึ่ง เพื่อดูว่า องค์ประกอบใดบ้างที่จะทำให้แคมเปญเพื่อสังคมหนึ่งๆ ประสบความสำเร็จ? ตลอดครึ่งวันนั้น ผู้รู้จากหลากหลายวงการมาให้ความเห็น ซึ่งสรุปได้ว่าปัจจัยสำคัญน่าจะมีอยู่ราว 4-5 ประการ อาทิ ชื่อเสียงขององค์กรหรือผู้ที่ออกมารณรงค์ การใช้เซเล็บมาดึงความสนใจ สารที่จะสื่อมีความแข็งแรงไหม วิธีการสื่อสารโดนใจคนหรือเปล่า ฯลฯ

ซึ่งพอจับการถอดบทเรียนดังกล่าว มาเทียบกับแคมเปญของพี่ตูน ผลคือมันเข้ากันแทบจะลงตัวพอดี

พี่ตูน-ทั้งดังและเป็นเซเล็บ สารที่จะสื่อก็เข้าใจง่าย-ขอคนละสิบบาทช่วย รพ.ที่ขาดแคลน และวิธีสื่อสาร-ทั้งเร้าอารมณ์ และใช้โซเชียลมีเดียอย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่รวมถึงการที่สื่อเทมาให้ความสนใจ กระทั่งกลายเป็น “วาระแห่งชาติ”

แต่ถามว่า ถ้าเอาองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ไปใช้กับทุกแคมเปญเพื่อสังคม จะประสบความสำเร็จทั้งหมดไหม – คำตอบก็คงจะไม่

เพราะมีแคมเปญหนึ่งที่เริ่มมาได้ 2-3 เดือน แต่กลับได้รับความสนใจไม่มากนัก ทั้งๆ ที่มีองค์ประกอบข้างต้นอยู่พอสมควร

แคมเปญที่ว่าคือ “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” ซึ่งริเริ่มโดยเครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน

เพราะทั้งๆ ที่ เป้าหมายของแคมเปญนี้ก็แค่ ขอให้คนเพียง 66,000 มาร่วมลงชื่อในเว็บ change.org เพื่อนำไปมอบต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม รวมถึงศาล 250 แห่งทั่วประเทศ ไม่ใช่ขอรับเงินบริจาคถึง 700 ล้านบาท

แต่ถึงปัจจุบัน กลับมีผู้ร่วมลงชื่อแค่ 28,000 รายชื่อ ยัง “ไม่ถึงครึ่ง” ของเป้าหมายด้วยซ้ำ

หลายคนอาจไม่รู้ว่า ในปัจจุบัน จากผู้ต้องขังในเรือนจำไทยกว่า 240,000 คน มีถึง 66,000 คน (เท่าจำนวนรายที่เครือข่ายฯต้องการขอ) ที่ถูกคุมขัง ทั้งๆ ที่คดีไม่ถึงที่สุด ถูกศาลตัดสินให้ “มีความผิด” 

บ้างอาจติดคุกเพราะมีพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจ เช่น เกรงว่าจะหลบหนี ยุ่งเหยิงพยาน หรือกลับไปทำผิดซ้ำ แต่ส่วนใหญ่ติดคุกเพราะ “ไม่มีเงินประตัว” เนื่องจากบางคดีมีการเรียกเงินประกันตัวเป็นหลักล้านบาท ซึ่งยากที่คนหาเช้ากินค่ำจะหาเงินดังกล่าวมาวางได้

ผมเองก็เพิ่งรู้ว่า เรื่องเงินประกันตัวไม่เพียงไปตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในสังคม (คนรวยมีเงินมาประกัน คนจนไม่มี) ยังทำให้ชีวิตใครบางคนแทบล้มละลาย บางคนต้องไปกู้หนี้ยืมสินจากนายทุนเงินกู้นอกระบบ กลายเป็นปัญหาสังคมอื่นๆ ให้ต้องแก้กันต่อไปอีก

อาจารย์คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด และอดีตประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เป็นคนหนึ่งที่พูดเรื่องนี้มาหลายสิบปี ว่าในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิอาญา ไม่มีตรงไหนกำหนดเลยว่า “ต้องมีเงินประกันตัว”

 และทั้งๆ ที่แคมเปญนี้จะส่งผลต่อการ “เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง” (ซึ่งเป็นจุดอ่อนของแคมเปญพี่ตูน ตามที่มีผู้มาวิจารณ์ไว้มากแล้ว) เพราะนอกเหนือจากที่มีผู้รณรงค์ขอให้ร่วมลงชื่อผ่านเว็บ change.org นักวิชาการและผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม อาทิ ผู้พิพากษา อัยการ ฯลฯ ก็ออกมาแสดงจุดยืนว่าเห็นด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น กลางเดือน ต.ค. สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช) กลุ่มหนึ่งยังเสนอร่างกฎหมายที่สอดคล้องกับแคมเปญนี้ เข้าสู่ที่ประชุม

องค์ประกอบทุกอย่างดูพร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลง คืนอิสรภาพให้กับผู้ยากไร้ – ขาดเพียงอย่างเดียวคือ “กระแสตอบรับจากสังคม”

ที่สุด ในสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีจึงเสนอให้ สนช. ชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ออกไปก่อน หลังมีหน่วยงานรัฐบางแห่งคัดค้าน ซึ่งภาษาข่าวก็คือถูกนำไป “แขวน” ไว้ก่อนนั่นเอง

เหตุที่เรื่องนี้ไม่ได้รับความสนใจมากนัก อาจเพราะ 1.ดูเหมือนเรื่องไกลตัว เพราะเชื่อว่าคนใกล้ชิดของตัวเองคงไม่ไปทำอะไรที่เสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง 2.เกรงว่าเปลี่ยนกฎเกณฑ์การประกันตัวให้ทำได้ง่ายขึ้น คนก็จะหนีคดีมากขึ้น ทั้งที่จริงๆ ผู้ที่มีความพร้อมจะหนีคดี ต้องมีศักยภาพประมาณหนึ่ง (ไม่ว่าจะเรื่องการเงินหรือเส้นสาย) ซึ่งคนทั่วๆ ไป หรือคนจน ไม่น่าจะมีศักยภาพอย่างที่ว่าแน่ๆ และ 3.ทำไมต้องไปช่วยคนทำผิด ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะถ้าทำผิดจริง ศาลมีคำตัดสินถึงที่สุด กฎหมายไม่เปิดช่องให้ยื่นประกันตัวอยู่แล้ว

ลองอ่านและพิจารณาดูกันครับ อย่าลืมว่า “อิสรภาพ” เป็นหนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ อย่าให้เกิดความเหลื่อมล้ำในเรื่องนี้เพราะความต่างทางฐานะ ยากดีมีจน

หากการบริจาคเงินสิบบาทให้พี่ตูน เป็นเรื่องไม่ยากนัก

การกดคลิ๊กร่วมลงชื่อสนับสนุนแคมเปญนี้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ให้ใครต้องติดคุกเพราะจน ก็ไม่น่าจะยากเช่นกัน





พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog