ไม่พบผลการค้นหา
อนาคตวิถีชีวิตคนบางปะกงและคุณค่าทางอาหาร กำลังถูกรุกคืบด้วยอำนาจทุน ผ่านกลไกไร้การมีส่วนร่วม

เมื่อป้ายเตือนห้ามเข้าพื้นที่ของบริษัทอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง ได้สร้างอาณาเขตพร้อมประกาศผูกขาดกรรมสิทธิ์ ในที่ดินเกือบ 3,000 ไร่ ตำบลเขาดิน อำเภอบางประกง จังหวัดฉะเชิงเทรา 

Untitled-1.jpg

1 ใน 3 จังหวัดพื้นที่เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี นอกเหนือ ชลบุรีและระยอง ที่กำลังจะเกิดเมกะโปรเจกต์ 'บลูเทค ซิตี้' ที่เชื่อมร้อยโครงการรัฐว่าด้วยการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ (อีอีซี) นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่รัฐบาลคสช.ต่อยอดถึงรัฐบาลตู่ 2

การกว้านซื้อที่ดินพื้นที่ดังกล่าว ได้เริ่มคืบคลานเข้ามานับตั้งแต่ปี 2561 จาก 10 ไร่ จนขยายวงรอบร่วม 3,000 ไร่ในปัจจุบัน ผ่านการแลกเปลี่ยนทรัพย์สินผ่านมือของเจ้าของเดิมและทุนใหญ่

"เจ้าของที่ดิน พวกเขาไม่เคยแจ้งล่วงหน้า มารู้อีกที ไร่นาที่เช่า ได้ถูกปล่อยขายไปแล้ว" เป็นคำบอกเล่าจาก 'นรี สอนประสิทธิ์' ผู้ลงหลักปักฐานจากการเช่าที่ดินราว 74 ไร่ จากต้นตระกูลจนถึงปัจจุบันก็ร่วม 70 ปี ที่ได้ใช้ประโยชน์จากการสร้างอาชีพภายใต้ผืนดินนี้ ด้วยสัญญาเช่า 

S__15114256.jpg
  • ไร่นาแบบเกษตรผลัดเปลี่ยนฤดูเป็นบ่อปลา

เธอเล่าต่อว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีการไกล่เกลี่ยจากตัวเจ้าของเดิมหรือทุนใหญ่ที่เข้ามาถือครองใหม่ ส่งผลกระทบมาถึงคนในพื้นที่อย่างน้อย 43 ครัวเรือน ที่ต้องตกอยู่ในชะตากรรมสุ่มเสี่ยงไร้ที่ทำกินและพักอาศัย เมื่อโครงการพัฒนาของภาครัฐไม่ได้สอดคล้องกับการดำรงอยู่ของชาวบ้าน

เสียงที่ไร้ส่วนร่วม

แม้ว่าจะมีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นต่อการพัฒนาพื้นที่ ด้วยโครงการจากทุนเอกชน แต่ใช่ว่าเสียงของทุกคนจะมีความหมาย 

"เขาไม่ยอมให้เราเข้าร่วม เพราะกลัวว่าจะรวมตัวกันไปคัดค้าน"

ตามคำบอกเล่าของนรี นั่นหมายถึงการตัดสิทธิคนในพื้นที่จริง โดยมีการสแกนหน้าผู้เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็น โดยผู้มีอำนาจในท้องถิ่น ที่ถือหางของทุนใหญ่ ส่วนพวกที่ไปฟังนั้นล้วนถูกจัดตั้งเพื่อสนับสนุน

"ตอนนี้ที่พึ่งได้ คือสู้กันในสภาฯ"

'ทวิช ปกครอง' หรือ ลุงวิช ชาวตำบลบางหัก อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี หนึ่งในแนวร่วมการต่อสู้กับการรุกคืบเข้ามาของทุน แม้จะอยู่ต่างพื้นที่ แต่เขายืนยันว่าการออกมาคัดค้านไม่เคยหวังประโยชน์ส่วนตน แต่เพื่อส่วนรวมและลูกหลานจะได้มีที่พักอาศัย เพราะหากมันถูกขับเคลื่อนไปได้ อันดับแรกเลยคือพื้นที่ทำกิน เพราะทุกวันนี้หลายครอบครัวต้องอยู่ภายใต้สัญญาเช่า

บางปะกง-สิ่งแวดล้อม
  • คุณค่าทางอาหารในพื้นที่

การต่อสู้ครั้งนี้มันมีข้อจำกัด เขาเห็นว่ามันเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี ดังนั้นจึงเปลี่ยนเวทีการต่อสู้ไว้ในรัฐสภาฯ ซึ่งที่ผ่านมาได้เดินทางเข้ากรุง เพื่อส่งเสียงสะท้อนปัญหาในพื้นที่กับคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ท้ายที่สุดก็เพียงหวังว่าจะมีการตั้งกรรมาธิการศึกษาโดยคนในพื้นที่ได้เข้าร่วมสะท้อนผลที่เกิดขึ้น

วิถีชีวิตที่กำลังถูกกลืนด้วยการพัฒนา

ระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ จากการผลัดเปลี่ยนระหว่างการทำนาและเลี้ยงปลา ที่คอยหล่อเลี้ยงครอบครัว ด้วยปลานานาชนิด ที่เติบโตในพื้นที่ทิ้งช่วงจากการทำนา หรือชาวบ้านเรียกอีกอย่างว่า "ปลาปี" เป็นหนึ่งอาชีพหลักจากรุ่นสู่รุ่นด้วยราคาของปลาหมอเทศตัวโตเต็มวัย กิโลกรัมละ 20 บาท จากขนาดเกือบ 3-5 ตัวต่อหนึ่งกิโล ถูกทอดขายต่อพ่อค้าคนกลาง เป็นการหมุนเวียนเม็ดเงินเลี้ยงชีวิตพวกเขาต่อไป

ความตระหนกของชาวบ้านยังคงคุกรุ่น แม้ว่าจะมีการระงับโครงการไว้ แต่ก็ยังพบว่ามีการลักลอบทำอยู่ อีกทั้งความกังวลต่อมติคณะรัฐมนตรี ว่าด้วยการเห็นชอบผังการใช้ประโยชน์ที่ดินอีอีซี ครอบคลุม 3 จังหวัด ชลบุรี ระยอง และ ฉะเชิงเทรา พื้นที่ 8,291,250 ไร่ หากมีการลงนามประกาศใช้ เท่ากับว่าจะเป็นการเปิดช่อง จัดทำผังเมืองใหม่ จากเดิมทีเป็นพื้นที่สีเขียวจะกลายเป็นสีม่วง รองรับพื้นที่อุตสาหกรรม ที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนบางปะกง ที่จะมีนิคมอุตสาหกรรม 18 แห่ง ใน 3 จังหวัด พื้นที่รวม 35,788 ไร่ แบ่งเป็น ฉะเชิงเทรา 8 โครงการ ชลบุรี 6 โครงการ และระยอง 4 โครงการ

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ

โดยการเห็นชอบครั้งนี้ได้กำหนดพื้นที่ออกเป็น 4 กลุ่ม 11 ประเภท ประกอบไปด้วย

1.กลุ่มพัฒนาเมืองและชุมชน (พื้นที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.37) พื้นที่ 1.096 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 13.23 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยแบ่งเป็นพื้นที่ 4 ประเภทย่อย คือ ประเภทศูนย์กลางพาณิชยกรรม (สีแดง) เพิ่มจาก 71,456 ไร่ เพิ่มเป็น 96,795 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.31 

ประเภทชุมชนเมือง (สีส้ม) จากพื้นที่เดิม 746,515 ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 981,974 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.25 และประเภทรองรับการพัฒนาเมือง (สีส้มอ่อนมีจุดขาว) พื้นที่รวม 463,666 ไร่ และ 4) พื้นที่ประเภทเขตส่งเสริมพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ (สีน้ำตาล) มีพื้นที่รวม 18,210 ไร่ 

2.กลุ่มพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.99 พื้นที่ 424,854 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ร้อยละ 5.12 กำหนดให้รวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ เพื่อให้สามารถควบคุมและบริหารจัดการได้ง่าย กำหนดระยะห่างจากพื้นที่ป่าไม้ ไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร จากแม่น้ำลำคลอง ห่างจากพื้นที่ชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า 500 เมตร แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ (สีม่วง) จำนวน 23 เขต พื้นที่รวม 90,010 ไร่ 2)พื้นที่ประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม (สีม่วงอ่อนมีจุดขาว) เพิ่มขึ้นจาก 2.59 แสนไร่ เป็น 3.34 แสนไร่  

3.กลุ่มพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม พื้นที่รวม 4,850,831 ไร่ ลดลงประมาณร้อยละ 8.13 แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ที่ดินประเภทชุมชนชนบท (สีเหลืองอ่อน) โดยเป็นพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจชุมชน รวมพื้นที่ 2.07 ล้านไร่ รวมถึงที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรม (สีเขียวอ่อน) มีพื้นที่รวม 1.1 ล้านไร่เศษ 

ที่ดินประเภทที่พระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน (สีเหลืองมีเส้นทแยงสีเขียว) มีพื้นที่คงเดิมรวม 1.66 ล้านไร่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ด้านตะวันออกของอีอีซี และพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนดให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.93 รวมพื้นที่ประเภทนี้ทั้งหมด 1.67 ล้านไร่เศษ 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :

พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog