นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยตัวแทนพรรคเพื่อไทย ในนามของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. ประกอบด้วย นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ สส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และนายเอนกชัย เรืองรัตนากร Senior Strategist พรรคเพื่อไทย เข้าร่วมกิจกรรมงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 14 และการสถาปนาเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชุมชนชาวเลโต๊ะบาหลิว ณ ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวถึงความรู้สึกยินดีที่ได้มาพบปะกับกลุ่มพี่น้องชาวเล และในโอกาสนี้ ได้มอบนโยบายและแนวทางขับเคลื่อนการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และได้ร่วมพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ "คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตชาวเลโต๊ะบาหลิว" ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2567
ทั้งนี้ พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เป็นแนวทางการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะชุมชนดั้งเดิมที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณ รวมทั้งได้รับการส่งเสริมศักยภาพบนฐานทุนทางวัฒนธรรม ปัจจุบันมีการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 23 พื้นที่ และพื้นที่ชุมชนชาวเลอูรักลาโวยจฺ ชุมชนโต๊ะบาหลิว อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ลำดับที่ 24
นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ สส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ”การขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์นับเป็นสาระสำคัญหลักในร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการไปแล้วเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ดังนั้น งานวันนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ทุกท่านจะได้เห็นรูปธรรมที่ชัดเจนของแนวคิดเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์”
นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ ยังกล่าวว่า “พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่ต้องการขับเคลื่อนกฎหมายชาติพันธุ์ร่วมกับทุกภาคส่วนให้เป็นวาระสำคัญของประเทศ อันจะถือเป็นความก้าวหน้าของประเทศไทยที่จะก้าวสู่สังคมพหุวัฒนธรรมที่โอบรับคนทุกกลุ่มวัฒนธรรมไว้อย่างเสมอภาคกัน ดิฉันรู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เพื่อคุ้มครองสิทธิแก่พี่น้องชาติพันธุ์”