ไม่พบผลการค้นหา
'ยูทูบ' เปิดตัวแอปพลิเคชันฟังเพลงล่าสุด พร้อมเสริมเวอร์ชันเสียเงินเพื่อบริการที่ดีกว่า ขณะผู้ใช้ไอโอเอสต้องเสียเงินแพงกว่าแอนดรอยด์

ผู้ใช้บริการทั้งในไทยและต่างประเทศส่วนใหญ่มักมอง 'ยูทูบ' เป็นแพลตฟอร์มเพื่อการเสพเนื้อหาเอนเตอร์เทนด้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม ต้นกำเนิดจากการเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มวิดีโอนั้น ทำให้เงื่อนไขบางอย่างของยูทูบไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานที่หวังเข้าไปฟังเพลงเป็นหลัก

'กิตติเพชร ภิงคารวัฒน์' ผู้ดูแลพันธมิตรฝ่ายเพลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของยูทูบ กล่าวว่า บริษัทผลิตแอปพลิเคชัน 'YouTube Music' ขึ้นมาเพื่อหวังตอบโจทย์ผู้ใช้งานที่เข้ามาฟังเพลงเป็นหลัก และด้วยตัวเลขสถิติถึงร้อยละ 70 ของผู้ใช้งานยูทูบในไทย เข้าไปฟังเพลงบนแพลตฟอร์ม การนำแอปฯ มาเปิดตัวในไทยจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติทางการตลาด

ยูทูป สไตล์บันเทิง
  • 'กิตติเพชร ภิงคารวัฒน์' ผู้ดูแลพันธมิตรฝ่ายเพลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แอปฯ ฟังเพลงจากยูทูบ

'กิตติเพชร' นำเสนอความแตกต่างของแอปฯ ฟังเพลงที่บริษัทพัฒนา โดยชี้ว่ามีทั้งหมด 6 ประการ 

  • ระบบอัลกอริทึมของยูทูบได้รวบรวมเพลงทั้งจากอัลบั้มจริง การร้องคัฟเวอร์ เวอร์ชันที่มีเนื้อเพลง รวมไปถึงเวอร์ชันรีมิกซ์
  • ปัญญาประดิษฐ์ที่มากับแอปฯ จะแนะนำเพลงที่เหมาะกับผู้ใช้งาน โดยคำนวนจากทั้งช่วงเวลาและสถานที่ที่สัมพันธ์กับกิจกรรมของผู้ใช้งาน
  • ยูทูบชี้ว่าผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องเป็นกังวลเรื่องการสร้างเพลย์ลิสต์ เนื่องจากระบบได้จัดเตรียมไว้หลายพันรายการ
  • ผู้ใช้งานสามารถใช้ประโยชน์จากระบบค้นหาของกูเกิล โดยการพิมพ์เพียงชื่อเพลงก็สามารถใช้ค้นหาเพลงได้
  • ระบบอัลกอริทึมยังคอยประมวลผลเพื่อหาวิดีโอที่ได้รับความนิยมในขณะนั้นมาอัปเดตทุกวันศุกร์
  • ผู้ใช้งานสามารถสลับจากโหมดฟังเพลงไปเป็นโหมดวิดีโอได้ โดยแอปฯ จะประมวลผลให้สามารถใช้งานต่อกันตามเวลาจริง

อยากได้ดีขึ้นก็ต้องเสียเงิน

สิ่งที่ YouTube Music นำเสนอข้างต้น คือฟีเจอร์ที่ผู้ใช้งานสามารถโหลดมาใช้ได้ฟรีทันที แต่หากผู้ใช้งานอยากได้ฟีเจอร์เพิ่มเติมในเวอร์ชัน 'พรีเมียม' หรือ YouTube Music Premium ก็สามารถจ่ายเพิ่มได้ในราคาต่อบุคคลที่ 129 บาท/เดือน สำหรับผู้ใช้แอปพลิเคชันในระบบแอนดรอยด์ และ 169 บาท/เดือน สำหรับไอโอเอส ขณะที่ราคาสำหรับครอบครัวที่ใช้ได้ถึง 5 บัญชี ถ้าเป็นแอนดรอยด์จะอยู่ที่ 199 บาท/เดือน และไอโอเอส 259 บาท/เดือน

สิ่งที่ผู้ใช้งานจะได้เพิ่มขึ้นมามี 3 ฟีเจอร์ คือ (1) ผู้ใช้งานสามารถฟังเพลงได้ต่อเนื่องแม้จะปิดหน้าจอโทรศัพท์ (2) จะไม่มีโฆษณามาคั่นระหว่างการฟังเพลง (3) ผู้ใช้งานสามารถดาวโหลดเพลงมาเก็บไว้ในเครื่องได้ 

นอกจากจะมีฟีเจอร์พิเศษสำหรับ 'YouTube Music Premium' ยูทูบยังนำโมเดลดังกล่าวไปปรับใช้กับแอปฯ ยูทูบที่ใช้รับชมคอนเทนต์ปกติเช่นเดียวกัน ภายใต้ชื่อ 'YouTube Premium'

หากผู้ใช้งานไม่ต้องการเจอโฆษณา อยากรับชมทั้งที่ปิดหน้าจอ และอยากจะโหลดวิดีโอมาเก็บไว้ในเครื่องชั่วคราว บนแพลตฟอร์มปกติของยูทูบ ก็สามารถเสียเงินในจำนวน 159 บาท/เดือน สำหรับแอนดรอยด์ หรือ 209 บาท/เดือน สำหรับไอโอเอสในบริการแบบบุคคล และเสียเงิน 239 บาท/เดือน และ 309 บาท/เดือน สำหรับแอนดรอยด์และไอโอเอสแบบครอบครัวที่ใช้ได้ 5 บัญชี ตามลำดับ 

สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือผู้ใช้โทรศัพท์ในระบบปฏิบัตการไอโอเอสจำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า ซึ่ง 'ยูทูบ' อธิบายว่าเป็นเพราะเงื่อนไขเฉพาะของไอโอเอส อย่างไรก็ตาม คำแนะนำอย่างเป็นทางการ คือ 'การคิดเงินนั้นขึ้นอยู่บนโทรศัพท์ที่ทำการสมัคร หากสมัครแบบครอบครัวก็เลือกสมัครจากโทรศัพท์ที่เป็นแอนดรอยด์ได้'

ประเทศไทยในปัจจุบันเป็นตลาดที่เติบโตได้ดีสำหรับยูทูบ โดยตัวเลขผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทย 'มุกพิม อนันตชัย' หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจยูทูบ ประเทศไทย กล่าวว่า องค์ประกอบ 3 อย่างของ โครงสร้างพื้นฐาน ผู้ให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ส่งผลให้ตัวเลขผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในไทยเพิ่มขึ้นจาก 28 ล้านคน ในปี 2557 เป็น 48 ล้านคนในปี 2561 

ยูทูป สไตล์บันเทิง
  • 'มุกพิม อนันตชัย' หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจยูทูบ

'มุกพิม' ชี้ว่า แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้งานยูทูบเพิ่มขึ้นทุกปีและเพิ่มขึ้นในทุกรูปแบบคอนเทนต์ แม้เนื้อหาส่วนมากในยูทูบยังคงถูกครองพื้นที่ด้วยเพลงและเนื้อหาบันเทิง แต่เนื้อหาข่าวและกีฬากำลังเติบโตขึ้นอย่างมากเช่นเดียวกัน และยูทูบเองก็มีการปรับเปลี่ยนการแบ่งรายได้ให้กับผู้ผลิตคอนเทนต์เพื่อให้แน่ใจว่าทั้งสองฝ่ายจะได้รับประโยชน์ที่ดีที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: