ไม่พบผลการค้นหา
ประธาน กสม.เผยผลการดำเนินงานที่สำคัญในโอกาสครบรอบ 19 ปี กสม. ชี้เรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้ต้องขัง ชู 11 ข้อเสนอเด่นนำสู่การแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2564 นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงสรุปผลการดำเนินงานที่สำคัญของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เนื่องในโอกาสวันสถาปนาองค์กร กสม. ครบรอบ 19 ปี สรุปว่า นับตั้งแต่ กสม. ชุดที่ 3 ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เข้ามารับหน้าที่เมื่อปลายเดือนพ.ย.2558 จนถึงปัจจุบัน กสม. ได้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจภายใต้กฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 นอกเหนือจากการมีประกาศองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2560 เรื่อง แนวปฏิบัติในการรับส่งเรื่องระหว่างองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 26 มิ.ย. 2563 แล้ว

ทั้งนี้ ระหว่างปี 2558 – 2563 (เพียงวันที่ 31 พ.ค.2563) มีเรื่องร้องเรียนเข้าสู่การพิจารณา 2,731 เรื่อง ได้จัดทำรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิ้น 2,358 เรื่อง (คิดเป็นร้อยละ 86.34) โดยพบว่าภูมิภาคที่มีการร้องเรียนว่าเกิดเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด มักเป็นพื้นที่ชุมชนเมืองที่มีประชากรหนาแน่น คือ กรุงเทพมหานคร ภูมิภาคที่มีการเกิดเหตุการณ์ละเมิดลำดับรองลงมาคือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนประเภทสิทธิที่มีการร้องเรียนมากที่สุด คือ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม จำนวน 1,057 เรื่อง จากจำนวนเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 2,731 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 38.7 ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐในประเด็นสิทธิของผู้ต้องขัง เช่น การให้ได้รับการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว การถูกทำร้ายในระหว่างการจับกุม การซ้อมทรมาน เป็นต้น

นายวัส กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลการดำเนินงานที่สำคัญเกี่ยวกับข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนนั้น เช่น 1) ข้อเสนอแนะกรณีการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights : NAP) โดย กสม. มีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP) เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีมติเมื่อวันที่ 28 ส.ค.2561 เห็นชอบกับข้อเสนอของ กสม. ซึ่งครอบคลุมการจัดทำนโยบายว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน การแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ การกำหนดให้รัฐวิสาหกิจเป็นผู้นำในการส่งเสริมการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน กลไกเยียวยาและร้องทุกข์นอกกระบวนการยุติธรรมของรัฐที่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ และเมื่อวันที่ 29 ต.ค.2562 ครม. มีมติเห็นชอบและประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2565) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

2) ข้อเสนอแนะกรณีพนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานของรัฐไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปฏิบัติงาน เรื่องนี้มีปัญหาสืบเนื่องจากเมื่อ ปี 2541 ครม. ได้มีมติเรื่องการปฏิรูประบบราชการ เพื่อปรับลดอัตรากำลังภาครัฐ และกรมบัญชีกลางได้มีหนังสือแจ้งเวียนหน่วยงานของรัฐให้จ้างเอกชนมาดำเนินงานในลักษณะที่ไม่ถือเป็นการจ้างลูกจ้างของส่วนราชการ ไม่ถือเป็นการจ้างแรงงาน และไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและการประกันสังคม ทำให้พนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานของรัฐไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปฏิบัติงาน และไม่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิขั้นพื้นฐาน หรือมาตรฐานขั้นต่ำที่ลูกจ้างทั่วไปพึงมีสิทธิได้รับ ทั้งที่ทำงานเช่นเดียวกับข้าราชการและลูกจ้างชั่วคราว กสม. จึงได้หยิบยกปัญหาเรื่องดังกล่าวมาพิจารณา และมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาใช้ระบบพนักงานของรัฐ หรืออาจพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ที่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานของสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เช่น ได้รับสิทธิในการลาป่วย และลาพักผ่อนโดยได้รับค่าตอบแทนระหว่างลา สิทธิประกันสังคม เป็นต้น

ต่อมา เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2563 ครม. มีมติรับทราบข้อเสนอแนะของ กสม. โดยกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหา 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน กรมบัญชีกลางจะจัดทำหนังสือซักซ้อมเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับส่วนราชการให้ดำเนินการจ้างให้ถูกต้องตามประเภทของงาน หากเป็นการจ้างเหมาบริการ (จ้างทำของ) ต้องไม่เป็นลักษณะการจ้างแรงงาน และไม่มีลักษณะการควบคุมบังคับบัญชาหรือการลงชื่อปฏิบัติงาน สำหรับอัตราค่าจ้าง ควรพิจารณาในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรม ต้องไม่จ่ายในอัตราต่ำเกินไป โดยคำนึงถึงสภาพการทำงาน ลักษณะงาน และอัตราตลาด และเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดในอนาคตในระยะยาว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลเพื่อแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงระบบต่อไป

3) ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสิทธิเด็กในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา กรณีการเปิดเผยประวัติการกระทำความผิดทางอาญาของเด็กและเยาวชน กรณีนี้สืบเนื่องจากหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการเก็บประวัติการกระทำความผิดทางอาญาของเด็กและเยาวชนได้เปิดเผยประวัติการกระทำความผิดทางอาญาของเด็กและเยาวชนหลายกรณี ทั้งที่เด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้น สมควรได้รับการปกป้องและคุ้มครองตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้เปิดเผยหรือนำประวัติการกระทำความผิดอาญาของเด็กและเยาวชนไปพิจารณาให้เป็นผลร้าย หรือเป็นการเลือกปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม ส่งผลให้เด็กและเยาวชนไม่ได้รับการคุ้มครองตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนสากล กสม. จึงมีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อพิจารณาแก้ไขระเบียบเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลประวัติการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน และขอให้กำชับหน่วยงานในสังกัดพิจารณาการอนุญาตให้เปิดเผยประวัติอาชญากรรมของเด็กและเยาวชนตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 อย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ

เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2562 กองทะเบียนประวัติอาชญากร สตช. ได้มีหนังสือแจ้งการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. ว่า สตช. ได้แก้ไขระเบียบว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2557 โดยคัดแยกประวัติการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนและบัญชีทะเบียนประวัติของเด็กและเยาวชนไว้ในหมวดใดหมวดหนึ่งโดยเฉพาะ แยกจากกรณีการกระทำความผิดของบุคคลทั่วไป และได้แก้ไขถ้อยคำในระเบียบฯ ให้เป็นไปเพื่อการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน และปัจจุบันเมื่อมีการขอตรวจสอบประวัติบุคคลจากหน่วยงานต่าง ๆ หากพบว่าข้อมูลประวัติของผู้ที่ถูกตรวจสอบเป็นเด็กและเยาวชนซึ่งเคยกระทำผิดอาญา กองทะเบียนประวัติอาชญากรจะไม่เปิดเผยข้อมูลประวัติให้หน่วยงานที่ขอตรวจสอบ ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 84

“นอกจากนี้ ยังมีผลการดำเนินงานที่สำคัญอีก 8 กรณี ซึ่งเกิดผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอแนะของ กสม. ได้แก่ (1) สิทธิชุมชน กรณีการก่อสร้างคลังก๊าซแหลมใหญ่และท่าเทียบเรือของคลังก๊าซมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการประกอบอาชีพของชุมชนคลองน้อย ตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม (2) สิทธิทางเศรษฐกิจ อันเกี่ยวเนื่องกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม กรณีกล่าวอ้างว่าคนกรีดยางรายย่อยไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรชาวสวนยางตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 (3) สิทธิชุมชน กรณีเกษตรกรได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดเพชรบุรี (4) สิทธิคนพิการ กรณีกล่าวอ้างว่า สายการบินเลือกปฏิบัติต่อผู้โดยสารด้วยเหตุแห่งความพิการ (5) สิทธิในชีวิตและร่างกาย อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิผู้บริโภค กรณีคัดค้านการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายพาราควอต (paraquat) ของกรมวิชาการเกษตร (6) สิทธิชุมชน กรณีกล่าวอ้างว่า โรงงานแปรรูปน้ำยางพาราปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองสาธารณะในพื้นที่อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง (7) สิทธิชุมชน อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในสุขภาพและการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม กรณีกล่าวอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบด้านเสียงจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ (8) ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .... ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน” ประธาน กสม. กล่าว