ไม่พบผลการค้นหา
ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติเคยยื่นจดหมายขอคำชี้แจงจากไทย เรื่องการดำเนินคดี 'พรรคอนาคตใหม่' เมื่อเดือน ม.ค.2563 พร้อมขอคำตอบใน 60 วัน เมื่อครบกำหนดจึงเปิดเผย จม.ต่อสาธารณะ แต่ "ไม่มีคำตอบจาก รบ.ไทย"

จดหมายดังกล่าวดำเนินการภายใต้กลไกพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The special procedures of the Human Rights Council) โดย 'เดวิด เคย์' ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยเสรีภาพด้านความคิดเห็นและการแสดงออก และ 'เคลมงต์ โวเล' ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคม ลงวันที่ 20 ม.ค.2563 ซึ่งผู้รายงานพิเศษฯ ทั้งสองคน แสดงความกังวลที่มีการดำเนินคดี 'พรรคอนาคตใหม่' ในขณะนั้น ทั้งยังระบุว่า ข้อหาดังกล่าวอาจนำไปสู่การยุบพรรคและการเอาผิดทางอาญากับสมาชิกพรรค 

เนื้อหาในจดหมายพูดถึงตั้งแต่การก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ การหาเสียงชูประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 และการปฏิรูปกองทัพ การเป็นพรรคการเมืองซึ่งได้เสียงมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ไปจนถึงการตัดสินให้ 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' ผู้ก่อตั้งพรรค พ้นสภาพ ส.ส. และยังมีการฟ้องร้องสมาชิกคนสำคัญของพรรคหลายคนภายใต้กฎหมายแตกต่างกันไป

นอกจากนี้ ผู้รายงานพิเศษได้ระบุในจดหมาย ขอคำชี้แจงหรือความเห็นจากรัฐบาลไทยหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น ข้อกล่าวหาที่มีต่อพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งขอรายละเอียดที่ครบถ้วนในเรื่องข้อเท็จจริงและพื้นฐานกฎหมายที่ใช้ในกระบวนการพิจารณาคดีที่อาจจะนำไปสู่การยุบพรรคอนาคตใหม่, ขอคำอธิบายว่ากระบวนการดำเนินคดีพรรคอนาคตใหม่เป็นไปตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานสากลอย่างไร

ทั้งยังขอข้อมูลที่รัฐบาลไทยมี หรืออาจมี เกี่ยวกับแนวทางหรือการตีความมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งรับรองว่าจะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ถือว่าเป็นไปตามข้อคิดเห็นทั่วไปข้อ 34 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหรือไม่ และแสดงให้เห็นมาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการเพื่อรับรองว่าบุคคลสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติ และใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยปราศจากการข่มขู่หรือการข่มเหงรังแก 

จดหมายนี้ยังให้ความสำคัญกับกรณีที่มีผู้ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคอนาคตใหม่ด้วยข้อกล่าวหา "มีแนวคิดที่จะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2562 ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 49 ที่ห้ามบุคคลใดใช้สิทธิและเสรีภาพในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากยุบพรรคก็จะมีการตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี

นอกจากนี้ ยังระบุถึงการที่สมาชิกบางส่วนของพรรคถูกตั้งข้อหาร่วมจัดการชุมนุมแฟลชม็อบโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า กีดขวางประชาชนในการเข้าถึงสถานีรถไฟและสถานที่สาธารณะ 

หน้าเว็บกลไกพิเศษสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ_กรณีอนาคตใหม่
  • วันที่ 30 มี.ค. 63 มีการเผยแพร่จดหมายของผู้รายงานพิเศษต่อสาธารณะแล้ว แต่ยังไม่มีเอกสารชี้แจงจากรัฐบาลไทยปรากฏบนเว็บไซต์ดังกล่าว

แม้ในท้ายที่สุดจะเป็นอย่างที่ทราบกันว่า 'พรรคอนาคตใหม่' ถูกตัดสินยุบพรรคเมื่อวันที่ 21 ก.พ.2563 จากคดีเงินกู้ยืมของพรรคที่ได้จากธนาธร ส่วนคดีที่เคยถูกกล่าวหาความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 "มีแนวคิดที่จะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือ 'คดีอิลลูมินาติ' นั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินยกคำร้องไปเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2563

แต่จดหมายของผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติฉบับนี้ ซึ่งลงวันที่ 20 ม.ค.2563 ก่อนหน้าวันตัดสิน 'คดีอิลลูมินาติ' เพียง 1 วัน ก็แสดงความกังวลอย่างจริงจังว่าการดำเนินคดีกับพรรคอนาคตใหม่อาจส่งผลให้เกิดการยุบพรรค และการกำหนดว่าสมาชิกพรรคจะมีความผิดทางอาญา อาจเป็นการ 'ข่มขู่' หรือขัดขวาง 'บุคคลอื่นๆ' รวมถึงประชาชน สมาชิกพรรคการเมืองอื่น ภาคประชาสังคม และนักปกป้องสิทธิมนุษยนชนคนอื่นๆ ไม่ให้พูดถึงประเด็นต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นกัน

จดหมายฉบับดังกล่าวของผู้รายงานพิเศษยังแสดงความกังวลด้วยว่า การฟ้องร้องคดีต่างๆ ต่อสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับมุมมองของพวกเขาต่ออิทธิพลของกองทัพในทางการเมือง และ กังวลว่าการดำเนินคดีเหล่านี้จะถูกใช้เพื่อลงโทษพรรคการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมาชิกพรรคอาจเผชิญการฟ้องร้องดำเนินคดีทางอาญาจากการวิจารณ์รัฐบาลภายใต้กฎหมายห้ามปลุกปั่นและหมิ่นสถาบันที่มีอยู่ ซึ่งในอดีต ผู้รายงานพิเศษได้เคยแสดงความกังวลในประเด็นนี้มาแล้ว 

ผู้รายงานพิเศษได้ขอคำตอบจากทางการไทยภายใน 60 วัน เพื่อให้ชี้แจงถึงแนวทางการตั้งข้อหาและพิจารณาคดีกับพรรคอนาคตใหม่ พร้อมระบุว่า หากเกินกำหนดระยะเวลาดังกล่าว จดหมายนี้และคำตอบใดๆ ที่ได้รับจากรัฐบาล จะถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ ผ่านทางเว็บไซต์ของกลไกพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

อย่างไรก็ตาม จนถึงวันที่ 30 มี.ค. 2563 ซึ่งได้มีการเผยแพร่จดหมายของผู้รายงานพิเศษผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวแล้ว ก็ยังไม่มีเอกสารคำตอบจากทางการไทยปรากฏบนเว็บไซต์นี้แต่อย่างใด