ไม่พบผลการค้นหา
มีการแซวกันเล่น ๆ ในวงการแพทย์ว่าห้องฉุกเฉิน หรือ ห้อง ER เป็น Everything Room ที่ทุกอย่างจะประเดประดังเข้ามา เพราะถือเป็นด่านหน้าช่วยเหลือชีวิตผู้บาดเจ็บ อีกทั้งต้องเปิด 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตเป็นหนึ่งในหลาย ๆ โรงพยาบาลที่เผชิญสถานการณ์แบบนี้มาหลายปี

ระบบบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ หรือ AOC (Ambulance Operation Center) จึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินทำงานง่าย อีกทั้งยังช่วยให้การสื่อสารระหว่างทีมแพทย์และผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ผู้ใช้บริการยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาวะฉุกเฉิน ห้องฉุกเฉินไม่ใช่ผู้ป่วยคนไหนมาก่อนจะได้รักษาก่อน เพราะการรักษาในห้องฉุกเฉินจะดูตามระดับความรุนแรง บางคนรอหนึ่งชั่วโมงแล้วยังไม่ได้รักษา แต่พอผู้ป่วยที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือเสี่ยงต่อความพิการมาปุ๊ป เราจะรักษาทันที อันนี้ต้องขอความเห็นใจ” นพ.เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ฝ่ายปฐมภูมิ กล่าวกับวอยซ์ออนไลน์ในระหว่างการลงพื้นที่ที่จังหวัดภูเก็ต

โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตนับว่าเป็นโรงพยาบาลศูนย์ในฝั่งอันดามันที่ใหญ่ที่สุด และมีศักยภาพรองรับผู้ป่วยได้ถึง 550 เตียง แต่เมื่อเปรียบเทียบภาระงานกับจำนวนบุคลากรแล้วยังถือว่าค่อนข้างหนัก

“โรงพยาบาลในประเทศไทยจะแบ่งตามขนาดประชากร ศักยภาพของบุคลากร และเครื่องมือ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตเรารับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีประชากรจริงประมาณ 400,000 คน มีประชากรแฝงอีก 600,000 คน นอกจากนี้ยังรับส่งต่อผู้ป่วยในจังหวัดพังงา กระบี่ ระนอง บวกกับความเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ในแต่ละปีภูเก็ตรับนักท่องเที่ยวมากถึง 14 ล้านคน และยังมีแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนไว้อีก 64,000 คน” นพ.เลอศักดิ์กล่าวเสริม


นายแพทย์เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล.JPG

นพ.เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล

ทั้งนี้ โรงพยาบาลแต่ละแห่งมีการลำดับความสำคัญทางสาธารณสุขแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับบริบทในพื้นที่ โดยแต่ละโรงพยาบาลมีการออกแบบการบริหารจัดการระบบต่างๆ ให้เข้ากับท้องถิ่นของตัวเอง เช่นเดียวกับ รพ.วชิระภูเก็ตที่ได้วางระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีลำดับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ

หากย้อนไปเมื่อปี 2547 หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก จังหวัดภูเก็ตก็ได้รับงบประมาณมาจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุ-สั่งการแพทย์ฉุกเฉินนเรนทรอันดามัน โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต

จากวันนั้นถึงวันนี้ เมื่อเทคโนโลยีถูกพัฒนาขึ้นและสามารถตอบโจทย์การทำงานของบุคลากรพร้อมกับยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ได้ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตจึงนำเอานวัตกรรมเข้ามาใช้ จนทำให้ภูเก็ตกลายเป็นจังหวัดนำร่องของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 4.0 โดยใช้ระบบบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ หรือ AOC (Ambulance Operation Center) แบบ Full Function เป็นจังหวัดแรก AOC ถือเป็นแพลตฟอร์มที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อการสื่อสารภายในทีมแพทย์ฉุกเฉิน โดยในอนาคตถ้าภูเก็ตเชื่อมต่อสื่อสารกับรถปฏิบัติงานทั่วทั้งจังหวัดได้ การบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินก็จะครอบคลุมและรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถใช้สื่อสารกับแอปพลิเคชัน A-live ที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับประชาชนทั่วไป จะทำให้สามารถเข้าถึงตัวได้แม่นยำและเร็วขึ้นด้วย



DSC_2996_resize.JPG

ทีมแพทย์บริหารจัดการดี ช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น

หลังเกิดอุบัติเหตุ ทุก ๆ วินาทีมีค่าสำหรับชีวิตของผู้ป่วย การบริหารจัดการรถฉุกเฉินจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ปัจจุบันในจังหวัดภูเก็ตมีรถพยาบาลรองรับอุบัติเหตุวิ่งอยู่รอบเกาะประมาณ 40 - 50 คันซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอ และมูลนิธิต่างๆ ดังนั้นการแบ่งพื้นที่การกระจายของรถฉุกเฉินให้ครอบคลุม รวมทั้งการวางแผนให้การกระจายตัวของเครือข่ายมีความถูกต้อง สื่อสารได้ชัดเจน ถึงจุดเกิดเหตุได้แม่นยำจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการช่วยเหลือชีวิตผู้บาดเจ็บ

“ รถคันแรกต้องเข้าไปถึงจุดเกิดเหตุได้ภายใน 8-10 นาที ” หมอเลอศักดิ์กล่าว

ในอดีตทางโรงพยาบาลได้ใช้วิธีการสื่อสารทางวิทยุ บางครั้งการถ่ายทอดข้อมูลมีความคลาดเคลื่อน แต่หลังจาก โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตเห็นถึงความจำเป็นจึงติดตั้งระบบ Advance Telemedicine ซึ่งประกอบด้วยการส่งสัญญาณภาพ สัญญาณเสียง และสัญญาณชีพของผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บทำให้เจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาลที่ศูนย์สามารถสั่งการและเห็นผู้ป่วย เหมือนกับหน่วยที่ออกไปรับผู้ป่วย หากในระหว่างที่อยู่บนรถ ผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง แพทย์ที่โรงพยาบาลก็สามารถสั่งการรักษามายังรถพยาบาลได้เลยซึ่งถือว่าเป็นข้อดีของระบบนี้

ด้าน พญ.จันทร์จิรา แต่ศักดาธรรม หนึ่งในทีมแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต บอกกับวอยซ์ออนไลน์ว่า ห้องฉุกเฉินที่ รพ.วชิระภูเก็ตรับผู้ป่วยปีละ 65,000 คนต่อปี ด้วยจำนวนบุคลากรเพียง 4 คน การมีนวัตกรรมเข้ามาทำให้ทีมแพทย์และพยาบาลทำงานได้ง่ายขึ้น มีความแม่นยำ และความปลอดภัยสูงขึ้น

เธอกล่าวอีกว่าระบบนี้อาจไม่ได้ส่งผลต่ออัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยโดยตรง แต่ในคนไข้วิกฤตระบบนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น เนื่องจากสามารถวิเคราะห์ เตรียมเครื่องมือและทีมในการรักษาผู้ป่วยได้ล่วงหน้า

แอพพลิเคชัน A-liveช่วยประเมินการรักษาได้แม่นยำ

สำหรับการทำงานของแอปพลิเคชัน A-live ผู้ใช้งานสามารถใส่ข้อมูลสุขภาพ เก็บประวัติการรักษา การแพ้ยา ประวัติการใช้ยา แจ้งเตือนเวลาทานยา และข้อมูลบุคคลติดต่อฉุกเฉินได้ ที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดที่มีการติดตั้งระบบ AOC แอปพลิเคชัน A-live ยังสามารถใช้เรียกรถพยาบาล และแชร์ตำแหน่งจุดเกิดเหตุได้อย่างแม่นยำ เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย ประวัติการรักษาของคุณจะถูกส่งต่อไปอยู่ในมือของทีมแพทย์ด้วยเวลาอันรวดเร็ว ช่วยให้ทีมแพทย์มีเวลาประเมินการรักษาได้มากขึ้น

นอกจากนี้ แอปพลิเคชัน A-live ยังมีฟีเจอร์ Notify Nearby User ไว้แจ้งเตือนเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุหรือภัยธรรมชาติ ให้กับผู้ใช้งาน A-life ในรัศมี 10 กิโลเมตร จากจุดเกิดเหตุ

ปัจจุบันในพื้นที่ชายฝั่งและเกาะบางแห่งเริ่มมีการพัฒนาเรือกู้ชีพฉุกเฉินทางทะเล ในอนาคตเทคโนโลยีการแพทย์ฉุกเฉิน อย่าง ระบบการขนส่งผู้ป่วยทางอากาศ (Aeromedical Transportation) จากพื้นที่ห่างไกล อาจเข้ามามีบทบาทมากขึ้นสำหรับช่วยเหลือชีวิตผู้ประสบภัยจากพื้นที่ห่างไกลอย่าง เกาะสิมิลันและเกาะพีพี เป็นต้น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“สายรัดข้อมืออัจฉริยะ” ช่วยชีวิตผู้ป่วยในยามฉุกเฉิน