ไม่พบผลการค้นหา
อย. ลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา จับสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ “เอเชีย สลิม” ที่เคยตรวจพบผสมสาร ไซบูทรามีน ซึ่งเป็นสารอันตราย พร้อมแจ้งดำเนินคดีโทษหนักทั้งจำและปรับ เตือนผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อโฆษณาอวดสรรพคุณ อาจได้รับผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารอันตราย

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ พล.ต.ต.ศุภเศรษฐ์ โชคชัย ผบก. ปคบ. , แถลงข่าวการตรวจจับผลิตภัณฑ์ Asia Slim โดย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า จากภารกิจที่รับผิดชอบในกำกับดูแลการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญกับการทลายแหล่งผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อมิให้ประชาชนได้รับอันตราย 

นอกจากนี้ จากการเป็นประธานกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ให้ยกระดับไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 แล้ว เนื่องจากต้องการให้เพิ่มโทษหนักขึ้นต่อผู้ผลิต/จำหน่าย/นำเข้า ที่ลักลอบใส่สารไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์อาหาร ล่าสุด พบมีผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ชื่อ “เอเชีย สลิม (Asia Slim)” บางรายกินแล้วเกิดอาการเบลอ 

ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคตามนโยบายรัฐบาล ดังนั้น เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 เจ้าหน้าที่ อย. ภายใต้การอำนวยการของ นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ ตํารวจ บก.ปคบ. กองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลางพื้นที่ จ.นครราชสีมา โดยประสานความร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “เอเชีย สลิม (Asia Slim)” จำนวน 4 จุด 

ด้าน พ.ต.อ.วินัย วงษ์บุบผา รอง ผบก.ปคบ. เปิดเผยต่อว่า การทลายแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Asia Slim 4 จุดข้างต้น ดังนี้

1. บ้านเลขที่ 439 ม.1 โฮมเพลส ซอย 8 ต.บ้านเกาะ อ.เมือง โดยมี นายณัฐดิษฐ์ พรเลิศแสงธรรม เป็นผู้นำตรวจค้น ผลการตรวจพบ ผลิตภัณฑ์ Asia Slim ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ประกาศผลวิเคราะห์ว่าพบยาไซบูทรามีน

2. เจ้าหน้าที่ขยายผลตรวจสอบบ้านเลขที่ 441 ม.6 โฮมเพลส ซอย 8 ต.บ้านเกาะ อ.เมือง โดยมี นายณัฐดิษฐ์ พรเลิศแสงธรรม เป็นผู้นำตรวจค้น ผลการตรวจพบ ผลิตภัณฑ์ Asia Slim , ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่แสดงฉลาก ไม่ถูกต้อง และพบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง

3. บ้านเลขที่ 555 ม.6 ต.โคกกรวด อ.เมือง โดยมี นายชนะกฤต ประสงค์ทรัพย์ เป็นผู้นำตรวจค้น ผลการตรวจพบ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง

4. บ้านเลขที่ 65/6 ถ.กุดั่น ต.ในเมือง อ.เมือง โดยมี นายอภิสักหณ์ศิริ ธนาศิริประเสริฐ เป็นผู้นำตรวจค้น ผลการตรวจพบ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลางทั้งหมดเพื่อดำเนินคดี คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านบาท และสงผลิตภัณฑ์ตรวจวิเคราะห ณ กรมวิทยาศาสตรการแพทย เพื่อหาสารที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคต่อไป

903086.jpg

ด้าน นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงการดำเนินคดี ในเบื้องต้นพบการกระทำความผิด ดังนี้

1. ผลิตภัณฑ์ Asia Slim ที่ฉลากระบุผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควบคุมน้ำหนัก แต่เมื่อแกะจากซอง พบภายในเป็นซองพลาสติกใส 2 ซอง และข้างในพบเป็นเม็ดยาลักษณะยาชุด ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มีโทษดังนี้ 

1.1 มีความผิดขายยาชุด โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

1.2 ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท

1.3 ขายยาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ 

2. จำหน่ายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท 

3. จำหน่ายอาหารปลอม เนื่องจาก แสดงฉลากเพื่อลวง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท

4. จำหน่ายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

5. จำหน่ายเครื่องสำอางปลอม ซึ่งเป็นเครื่องสำอางที่ใช้ฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิตหรือแหล่งผลิตที่มิใช่ความจริง มีโทษจำคุก 3 เดือน หรือปรับ 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

6. จำหน่ายเครื่องสำอางที่ใช้ฉลากซึ่งทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง มีโทษจำคุก 3 เดือน หรือปรับ 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า หากมีประกาศตามกฎหมายให้ยกระดับไซบูทรามีนเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 1 แล้ว ผู้ใดขายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของยา ไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์อาหาร จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000 บาท – 2,000,000 บาท จึงขอเตือนมายังผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมาย มิเช่นนั้นจะได้รับโทษสูงสุดดังกล่าว และขอให้ผู้บริโภคระลึกเสมอว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่สามารถลดความอ้วนได้ หากมีการโฆษณาว่าสามารถช่วยรักษาโรค ลดความอ้วน หรือมีผลในทางยา ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจมีส่วนผสมของยา ซึ่งผู้ใช้อาจได้รับผลข้างเคียงจากยานั้น จนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หากต้องการลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและควบคุมอาหาร รวมทั้งออกกำลังกายอย่างเหมาะสม