ไม่พบผลการค้นหา
จากท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ของแกนนำพรรคเก่าแก่หลายราย ทำให้พอจะประเมินได้ว่า ถึงที่สุดพรรคเก่าแก่สีฟ้า มีโอกาสจะจับมือ พรรคสีเขียว เพื่อตั้งรัฐบาล

ในเวลานี้ ท่วงท่าของนักการเมืองพรรคเก่าแก่ ดำเนินไปแบบ “บางวันด่าเผด็จการ-บางวันด่าทักษิณ-บางวันด่าธนาธร” แต่เมื่อเพ่งพินิจดูความเป็นไปได้ จะพบว่า ถ้าวันหนึ่งต้องจับมือ มีความเป็นไปได้สูง ที่สูตรทางการเมืองจะเป็น “พรรคพลังประชารัฐ + พรรคภูมิใจไทย + พรรคประชาธิปัตย์ + พรรคชาติไทยพัฒนา = การสืบทอดระบอบเผด็จการไปข้างหน้า”

วันนี้อาจทำที “แบ่งรับแบ่งสู้-รังเกียจระบอบเผด็จการ” แต่วันข้างหน้าอาจกลายเป็น “กองหนุนที่เหนียวแน่น” แบบแผนทางการเมืองของพรรคนี้ดำเนินไปอยู่แบบนี้เสมอ ดำเนินไปแบบ “พร้อมเปลี่ยนจุดยืนเสมอ เพื่อให้ตัวเองมีที่ยืนอันโดดเด่น”

ถ้าสูตรทางการเมืองดำเนินไปเช่นนี้ นักการเมือง 'สายคนดี' แบบ “ชวน หลีกภัย” แบบ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' จะต้องหวนมาร่วมงานกับนักการเมือง 'สายสีเทาถึงดำมืด' แบบ 'สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ' แบบ 'สมศักดิ์ เทพสุทิน'

ฉากทรรศน์ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจึงน่าตื่นตาตื่นใจอยู่ไม่น้อย ก่อนจะถึงวันนั้น ควรย้อนรอยไปดูความสัมพันธ์ระหว่าง 'ชวน หลักภัย' - 'สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ' ในวันปะทะรุนแรง ขนาด 'นายหัวชวน' กรีดแรงว่า “ผมมาจากระบบการเลือกตั้งจริงๆ ผมไม่ได้มาจากระบบการซื้อตำแหน่ง ซึ่งคุณสุริยะทำไม่ได้แบบผม"

suriya02.jpg



suriya.jpg


'สุริยะ' ยกย่อง 'แม้ว' กล้าตัดสินใจ ไม่เหมือนยุค 'ชวน หลีกภัย'

อ่านข่าวเก่า ปี 2546 จะพบว่า หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 29 ธันวาคม 2546 พาดหัวว่า [ชวน กรีด สุริยะ ดูเงาตัว ชี้ ไทยรักไทยไม่ใช่ลูกผู้ชายฉายวิดีทัศน์อัดคู่แข่ง..พร้อมจวก สุริยะ ให้ตักน้ำดูเงา เส้นทางการเมืองต่างกันอย่าเอามาเทียบ] ขณะที่ หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 29 ธันวาคม 2546 พาดหัวว่า [ชวน ย้อน สุริยะ ดูตัวเอง ไต่บันได้เงินตรา… เตือน สุริยะ ดูตัวเองก่อน วิจารณ์คนอื่นระบุเทียบกันไม่ได้ระหว่างคนไต่บันไดประชาชนกับไต่บันไดเงินตรา]

ฉากทรรศน์ทางการเมืองในอดีต เหตุเกิดขึ้นระหว่างการสัมมนาพรรคไทยรักไทย ที่โรมแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2546 'นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-เลขาธิการพรรคไทยรักไทย' ได้ขึ้นกล่าวประมวลสรุปเรื่องความพร้อมในการเตรียมการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในต้นปี 2548

ในเวทีวันนั้น 'สุริยะ' ได้กล่าวยกย่อง 'พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี' ว่า “เป็นผู้พลิกฟื้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้าน เก่งและกล้าคิด กล้าตัดสินใจ ไม่เหมือนสมัยก่อน (นายกชวน) ที่เชื่องช้าไร้สภาพ" (มติชน/28 ธันวาคม 2546)

"พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นมิติใหม่ทางการเมือง ที่มีภาพการทำงานฉับไวต่างกับความเชื่องช้าของนายชวน หลีกภัย และต่างประเทศก็ให้ความนิยมอย่างยิ่ง ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ว่าจะเลือกพรรคไทยรักไทยมาบริหารประเทศอีก อย่างไรก็ตาม แม้พรรคประชาธิปัตย์จะมีผู้นำที่อ่อนแอ ไม่มีวิสัยทัศน์ และเกิดความแตกแยกภายในพรรค แต่พรรคไทยรักไทยจะประมาทไม่ได้ เพราะพวกนี้ชอบเล่นกลเกมการเมือง ใส่ร้ายป้ายสี ไร้จริยธรรม ไม่มีมารยาททางการเมือง ชอบโจมตี พ.ต.ท.ทักษิณ" (ข่าวสด/28 ธันวาคม 2546)

"เคยมี ส.ส. 5 สมัย คนหนึ่งติดต่อเพื่อเข้าพรรค ในเวลาต่อมาได้บอกไปว่าพื้นที่นั้นยังไม่ลงตัว ปรากฏว่า ส.ส.คนนั้นถึงกับร้องไห้ เพราะกลัวไม่ได้สมัครในนามไทยรักไทย จะเห็นได้ว่ามีแต่คนอยากมาเข้าพรรค ดังนั้น เรื่องกระแสดูด ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่มี มีแต่คนเขามาสมัคร ส่วนเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์เตรียมตั้งคณะกรรมการสอบ ส.ส.คนหนึ่งที่คิดจะย้ายพรรค ตนเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ควรสอบผู้บริหารพรรคก่อนว่า ทำอย่างไร ส.ส.จึงหนีไปอยู่พรรคอื่น ความดันทุรังแบบพรรคประชาธิปัตย์อยู่ไม่ได้ ขืนเป็นแบบนี้ระวังจะสูญพันธ์" (มติชน/28 ธันวาคม 2546)

หมดยุค 'การเมืองที่ใช้สำนวนโวหาร'

นอกไปจากที่ 'สุริยะ' เทียบ 'ทักษิณ-ชวน' ผ่าน 'วิธีการทำงานอันฉับไว-เชื่องช้า' ยังจี้ใจดำพรรคเก่าแก่ด้วยวิดีโอพรีเซนเทชั่นอีกชิ้นหนึ่งที่ฉายในวันงาน ใช้ชื่อว่า “อีกก้าวที่มุ่งมั่น เพื่อสร้างสรรค์สังคมไทย” ซึ่งเป็นการผลิตโดยมี นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เป็นผู้วางแนวคิด และมีนายสุรนันท์ เวชชาชีวะ โฆษกพรรคไทยรักไทย เป็นผู้เขียนบท พร้อมคอยกำกับและตัดต่อภาพด้วยตัวเอง

เนื้อหาของพรีเซนเทชั่น [เนื้อหาเจาะจงโจมตีและเสียดสีการทำงานของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต ว่าเป็นรัฐบาลที่ผู้นำขาดวิสัยทัศน์ ทำงานเชื่องช้า ทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ปลัดประเทศ โดยมีการฉายภาพแกนนำพรรคประกอบคำบรรยายเป็นช่วงๆ ไม่ว่าจะเป็น นายบัญญัติ นายชวน นายอภิสิทธิ์ พลตรีสนั่น….ในตอนท้าย ได้ใช้ภาพนายบัญญัติ ประกอบข้อความว่า พรรคไทยรักไทยได้เปลี่ยนแปลง 'การเมืองน้ำเน่าให้หมดไป' ใช้ภาพนายชวนประกอบข่้อความว่า 'การเมืองที่ใช้สำนวนโวหาร' ใช้ภาพนายอภิสิทธิ์ประกอบข้อความว่า 'เป็นยุคมืดการเมืองที่ไร้ผู้นำ' จากนั้นก็ตัดภาพไปที่ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่เคียงข้างประชาชน พร้อมคำบรรยายว่า เป็นผู้นำที่เข้มแข็งของพรรคการเมืองที่ทำตามสัญญา มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง สร้างมิติใหม่ให้กับการเมืองไทย”] (ข่าวสด/28 ธันวาคม 2546)

'ชวน' กรีด 'สุริยะ' : “ผมไม่ได้มาจากระบบการซื้อตำแหน่ง”

การโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะการเจาะจงไปที่ 'ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี' โดย 'สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ' เป็นที่มาของการปะทะผ่านหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ในเช้าวันต่อมา

'ชวน หลีกภัย' กรีดสุริยะกลับ ในเช้าวันถัดมา "ก่อนที่นายสุริยะจะวิจารณ์คนอื่นนั้น ควรจะต้องถามตัวเองก่อนว่า นายสุริยะมาเป็นนักการเมืองอาศัยบันไดประชาชนมา หรืออาศัยบันไดเงินตรามา"

"ผมกับคุณสุริยะ ที่มาต่างกันมาก ตำแหน่งอะไรก็ตามที่ผมขึ้นมาเป็น ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือนายกรัฐมนตรีก็ตาม ผมมาจากระบบการเลือกตั้งจริงๆ ผมไม่ได้มาจากระบบการซื้อตำแหน่ง ซึ่งคุณสุริยะทำไม่ได้อย่างผม ดังนั้น เมื่อทำไม่ได้อย่างผม ก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ผม ขอให้ทบทวนดูตัวเอง และก้มดูตัวเองก่อน ผมไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์คุณสุริยะ เว้นแต่ในสภา" (มติชน/29 ธันวาคม 2546)

ภาพของ 'สุริยะ' เป็นอย่างที่นายหัวชวนแนะนำไว้เป็นเบื้องต้น เมื่อไล่ย้อนดูข่าวเก่าเก่า จะพบว่า บทความหลายชิ้นแนะนำเขาในฐานะ 'นายทุนร่วมพรรคไทยรักไทย' [สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้สมัครสมาชิกผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ลำดับที่ 12 พรรคไทยรักไทย ที่คั่วตำแหน่งใหญ่นี้มาตั้งแต่ต้น ชนิดโผไม่พลิกเท้าไม่แพลง เพราะเป็นถังเงินใบใหญ่ดูแลผู้สมัคร ส.ส.เขตมุ้งกิจสังคม พรรคไทยรักไทย..จิ้งจกตุ๊กแกเม้าธ์กันให้แซดว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 6 มกราคม 2544 กระเป๋าฉีกปลิวไปหลายร้อยล้าน

เป็นที่มาของสุนทรพจน์ที่ 'สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แห่งอาณาจักรสามมิตร' กล่าวต่อ อดีต ส.ส.ที่ดูดได้สำเร็จเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า “ผมอยู่พรรคไหน พรรคนั้นสบาย”

น่าตื่นตาตื่นใจทีเดียว ถ้าหาก ทั้ง 'ชวน-สุริยะ' โคจรกลับมาเจอกันอีกครั้ง บนเงื่อนไข ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ จับมือร่วมกับ พรรคพลังประชารัฐ จัดตั้งรัฐบาล ในปี 2562!!

และการย้อนดูเอกสารเก่าเก่าจะช่วยตรวจสอบ 'จุดยืน' ของบรรดานักการเมือง ที่ได้ชื่อว่า หรือถูกยกย่องว่า “เป็นนักการเมืองสายคนดี ที่อยู่ขั้วตรงข้าม กับนักการเมืองเลว” ว่าถึงที่สุดพวกเขาจะรักษาจุดยืนของตัวเองได้ 'สม่ำเสมอ' หรือไม่ ? หรือพร้อมเปลี่ยนจุดยืนเพื่อให้ตัวเองมีที่ยืน ?

อ่านเพิ่มเติม:

วยาส
24Article
0Video
63Blog