ไม่พบผลการค้นหา
ตามถ้อยแถลงของสหภาพยุโรปเมื่อวันจันทร์ ตราบใดรัฐบาลทหารยังไม่เลิกจำกัดเสรีภาพ ยังไม่จัดการเลือกตั้ง และประเทศยังไม่มีรัฐบาลประชาธิปไตย ตราบนั้นอียูจะยังไม่ฟื้นความสัมพันธ์ขั้นปกติกับไทย

ผลสรุปการประชุมของคณะรัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2560 ที่ว่า อียูจะกลับมาติดต่อกับผู้ปกครองทหารนั้น เป็นเพียงการปรับ ‘กุศโลบาย’ ที่จะผลักดันไทยไปสู่เป้าหมายที่ไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือ สิทธิมนุษยชน การเลือกตั้ง และรัฐบาลประชาธิปไตย


ย้อนพินิจ มติอียู ปี 2557

เมื่อวันจันทร์ สหภาพยุโรปประกาศหวนการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในทุกระดับ อียูให้เหตุผลการปรับเปลี่ยนนโยบายในครั้งนี้ว่า เป็นเพราะผู้นำรัฐบาลทหารของไทยให้คำมั่นที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561

การให้เหตุผลที่ว่านี้นับว่าสอดคล้องกับคำประกาศทบทวนความสัมพันธ์กับไทย ที่รัฐมนตรีต่างประเทศอียูประกาศไว้เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2557 (Council of The European Union, 23 June 2014)

ผลสรุปการประชุมเมื่อปี 2557 ระบุชัดเจนว่า อียูทบทวนความสัมพันธ์กับประเทศไทย เจ้าหน้าที่อียูระงับการเยือนไทยทั้งหมด และไม่ต้อนรับเจ้าหน้าที่ไทยไปเยือนอียู

นอกจากนี้ อียูและชาติสมาชิกจะไม่ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนกับประเทศไทย จนกว่าไทยจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย

สาเหตุที่ลดระดับความสัมพันธ์กับไทยนั้น อียูอธิบายว่า เป็นเพราะคณะผู้ปกครองทหารไม่ประกาศโรดแมปที่น่าเชื่อถือ ว่า ไทยจะหวนคืนสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยเมื่อใด

ผลสรุปท่าทีอียูต่อระบอบทหารไทยในครั้งนั้น ยังพูดไว้แจ่มแจ้งด้วยว่า อียูจะหวนคืนความสัมพันธ์กับไทยต่อเมื่อมีการประกาศโรดแมป และจัดการเลือกตั้ง

คงยังจำกันได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารัฐบาลทหาร และหัวหน้าคณะรัฐประหาร ประกาศเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ว่า ไทยจะประกาศกำหนดวันเลือกตั้งในราวเดือนมิถุนายน 2561 จากนั้น การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน (Reuters, 10 October 2017)

3 เงื่อนไขฟื้นสัมพันธ์ไทย

ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอียูเมื่อวันจันทร์ มองว่า ไทยมีความคืบหน้าในการตระเตรียมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง อีกทั้งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังลั่นวาจาที่จะให้มีการเลือกตั้งในปีหน้า

ดังนั้น ที่ประชุมจึงสรุปว่า “มีความเหมาะสมที่จะหันกลับมาติดต่อคบหาทางการเมืองกับประเทศไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไป” (Council of the European Union, (11 December 2017)

ถามว่า รัฐบาลทหารควรป่าวร้องความสำเร็จทางการทูตไหม 

ถ้าพิจารณาผลสรุปการประชุมครั้งนี้โดยละเอียด เห็นได้ไม่ยากว่า อียูยังคงยืนกรานข้อเรียกร้องต่อไทยในทุกประการที่เคยเรียกร้องนับแต่รัฐประหาร ไม่มีข้อไหนย่อหย่อนลงเลย

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงมีเพียงวิธีการ ที่ผ่านมา อียูตัดสายการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ไทย ทว่าต่อไปนี้จะเริ่มกลับมาพูดจากันอีกครั้ง

ตามมติรัฐมนตรีอียูข้างต้น ประเด็นที่จะยังคงหยิบยกหารือกับฝ่ายไทย ไม่พ้นเรื่องสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน โรดแมปสู่ประชาธิปไตย

การทบทวนความสัมพันธ์กับไทยจะยังคงมีอยู่ต่อไป จนกว่าข้อห่วงกังวลของอียูใน 3 ประเด็นจะคลี่คลาย ไทยจะต้องทำสิ่งต่อไปนี้ อียูจึงจะฟื้นคืนความสัมพันธ์เต็มรูปแบบกับไทย

• เลิกจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก เลิกปิดกั้นสื่อ ยอมรับเสรีภาพในการชุมนุม ปลดล็อกพรรคการเมือง อนุญาตการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน

• จัดการเลือกตั้งที่ไม่กีดกันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

• รัฐบาลจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย เข้ารับตำแหน่ง

ตราบเท่าที่ 3 เงื่อนไขนี้ยังไม่บรรลุ ไทยในสายตาอียู ยังคงอยู่ในสถานะ "ทบทวนความสัมพันธ์" ต่อไป

มติที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอียู พูดไว้ด้วยว่า อียูจะลงนามความตกลงความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วน และข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศไทย กับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

ดูท่าทีล่าสุดของอียูแล้ว ใครคิดบ้างว่า รัฐบาลทหารได้เวลาเฉลิมฉลองชัยชนะบนเวทีโลก.