ไม่พบผลการค้นหา
แพทย์แผนไทยแนะเสริมเกราะป้องกันโรคความดันโลหิตสูงด้วยพืชสมุนไพร ผักพื้นบ้าน ชูเมนูอาหารทำง่าย ยำตะไคร้ ป้องกันและลดภาวะความดันโลหิตสูงเนื่องใน 'วันความดันโลหิตสูงโลก'

นายแพทย์สรรพงศ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในฐานะ รองโฆษกกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) และสมาคมโรคความดันโลหิตสูงนานาชาติ (International Society of Hypertension) ได้กำหนดให้วันที่ 17 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก โดยในปีนี้ ยังใช้คำขวัญเพื่อรณรงค์วันความดันโลหิตสูงโลกเหมือนปีที่ผ่านมา คือ Know Your Number "ท่านทราบระดับความดันโลหิตของท่านหรือไม่"

โรคความดันโลหิตสูงหรือภาวะความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง สาเหตุเกิดจากการบริโภคอาหารรสเค็ม สูบบุหรี่ ติดสุรา โรคเบาหวาน ผู้ที่มีรูปร่างอ้วน พันธุกรรม ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น อาการของโรคความดันโลหิตสูงจะแสดงอาการ เมื่อถึงขั้นวิกฤตและมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นเวลานาน อาการที่พบ เช่น ปวดศีรษะบริเวณท้ายทอยในตอนเช้า อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน บางรายอาจตาพร่ามัวร่วมด้วย หากมีอาการรุนแรงหรือความดันโลหิตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจมีอาการเลือดกำเดาไหล เหนื่อยง่าย และเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ทั้งนี้ คนปกติจะมีความดันโลหิตประมาณ 120/80 – 140/90 มม.ปรอท หากสูงกว่านี้ทั้งตัวบนและตัวล่างถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลง

เนื่องจากสาเหตุหลักๆ มาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ดังนั้น มีการนำพืชผักพื้นบ้านมาปรุงเป็นอาหาร เพื่อป้องกันและรักษาภาวะความดันโลหิตสูง ตัวอย่าง เช่น ตะไคร้ ใบบัวบก ใบย่านาง มะรุม กระเจี๊ยบ กระเทียม ขิง หม่อน กะเพราฯ

เมนูที่จะขอแนะนำในวันนี้คือ ยำตะไคร้ เนื่องจากตะไคร้เป็นที่รู้จักกันดี สามารถหาได้ง่ายในชุมชน และตะไคร้มีฤทธิ์ช่วยขับปัสสาวะ แก้อาการขัดเบา ซึ่งมีผลช่วยลดความดันโลหิตได้เป็นอย่างดี วิธีทำ คือ นำโปรตีน 100 กรัม (หมู ไก่ ปลา) ผสมกับตะไคร้ซอย 6 ต้น หอมแดงซอย 2 หัว พริกขี้หนูซอย 2 เม็ด น้ำมะนาว 3 ช้อนโต๊ะ น้ำตาลปี๊บ 2 ช้อนชา น้ำปลา 1 ช้อนชา คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วตักใส่จาน โรยหน้าด้วยถั่วลิสงคั่วและใบสะระแหน่

ส่วนน้ำสมุนไพรที่ช่วยลดความดันโลหิต ได้แก่ น้ำบัวบก น้ำตะไคร้ น้ำใบเตย น้ำขิงฯ 

ส่วนยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติคือ ยาหญ้าหนวดแมว และยากระเจี๊ยบแดง ยาทั้ง 2 ชนิด มีสรรพคุณขับปัสสาวะลดความดันโลหิต แต่ยาทั้ง 2 ชนิดนี้ ไม่ควรใช้ในผู้ที่มีการทำงานของหัวใจและไตบกพร่อง เนื่องจากมีแร่ธาตุโพแทสเซียมสูง ทำอาการของโรคหัวใจและโรคไตกำเริบ

นอกจากนี้ ก็ควรที่จะออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ จำกัดการบริโภคอาหารรสหวานจัด เค็มจัด และอาหารไขมันสูง หากิจกรรมนันทนาการผ่อนคลายความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ เป็นต้น เพียงเท่านี้ ชีวิตคนเราก็จะห่างไกลกับโรคความดันโลหิตสูง และไม่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงในอนาคตข้างหน้า หากต้องการทราบข้อมูลสรรพคุณของสมุนไพร สามารถดูได้จากแอปพลิเคชัน "สมุนไพรเฟิร์ส" หรือสอบถามได้ที่ Call Center 0 - 2591 - 7007 ต่อกองวิชาการและแผนงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง