ไม่พบผลการค้นหา
จากอดีตเด็กขายน้ำแข็งที่หลงรัก ‘ข้อมูล’ สู่นักวิจัยสาวไทย ผู้ร่วมปฏิรูปภาคการเกษตรของญี่ปุ่นเมื่อปี 2557 วันนี้เธอพร้อมแล้วที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของเพื่อนร่วมชาติดีขึ้น ผ่านข้อมูลและนวัตกรรม

อุณหภูมิ 38 องศา แดดแรงเปรี้ยง ที่ไร่นา จ.สุพรรณบุรี แต่ซีอีโอสาวบุคลิกปราดเปรียว ยังเดินยิ้มร่าระหว่างพูดคุยกับเกษตรกร ชวนก้าวไปข้างหน้าด้วยกันผ่านข้อมูลและข้อเท็จจริง โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยสำคัญ

นุ่น รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ผู้ก่อตั้ง ListenField Inc. (ลิสเซินฟิลด์) ผ่านการทำงานร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่นในโครงการระดับชาติ Agricultural Reform หรือการปฏิรูปภาคเกษตร เมื่อปี 2557 โดยพางานวิจัยในระดับปริญญาเอกลงสู่การพัฒนาจริง 

จากวันนั้นถึงวันนี้ ListenField Inc. ที่แปลว่า ฟังเสียงธรรมชาติ กำลังเดินหน้าในไทยหวังเปลี่ยนรายได้ขั้นต่ำของเกษตรกรไทย จากหลักหมื่นหลักแสน สู่หลักล้านทัดเทียมเกษตรกรชาวญี่ปุ่น 

“เขาทำได้ เราก็น่าจะทำได้” รัสรินทร์ พูดถึงความตั้งใจของตัวเอง 


ยิงปืนนัดเดียวได้นก 3 ตัว

รัสรินทร์ เรียนจบปริญญาตรี ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ต่อมาระหว่างเรียนปริญญาโทที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) มีโอกาสร่วมทำงานวิจัยระบบเซ็นเซอร์ตรวจสอบสภาพดินฟ้าอากาศ ในจังหวัดเชียงใหม่ กับอาจารย์ชาวญี่ปุ่น 

ด้วยฝีไม้ลายมือและไอเดียอันโดดเด่น เธอได้รับทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น เรียนต่อในระดับปริญญาเอกด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยชูบุ เมืองนาโงยะ

สุภาษิตไทยบอกว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว แต่นุ่นได้ถึง 3 เมื่อผลงานธีสิสหัวข้อ API Integration Platform (Application Programming Interface) สำหรับภาคการเกษตร เข้าตารัฐบาลญี่ปุ่นในโครงการระดับชาติ Agricultural Reform หรือการปฏิรูปภาคเกษตร จนนำไปสู่การก่อตั้งบริษัทของตัวเองเมื่อปี 2560 

“กลายเป็นว่าเราต้องทำเพื่อให้เรียนจบ ต้องทำเพราะเป็นงานของรัฐบาล และก็ได้บริษัทมาด้วย” นุ่นพูดพลางหัวเราะก่อนอธิบายว่า API คือการเชื่อมโยงข้อมูลที่กระจัดกระจายเพื่อรองรับและแก้ปัญหาในมิติต่างๆ ให้กับภาคการเกษตร

“เราพบว่าเกษตรกรญี่ปุ่นมีความเป็นอยู่ที่ดีมาก มีการใช้ข้อมูล มีความละเอียดในการจัดการแปลงนา สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและมีเสน่ห์ แต่อาจขาดการเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูล มันเป็นจุดที่ทำให้เราเห็นว่า ถ้าพวกเขาได้ข้อมูลที่ดีกว่าเดิมจะช่วยให้สามารถออกแบบ ประเมินความเสี่ยงและเพิ่มมูลค่าของผลผลิตได้” 

รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ListenField กลุ่มแคร์ เกษตรกรรม

ธุรกิจของ ListenField คือ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ พันธุ์พืช ดีเอ็นเอ , บริหารจัดการข้อมูลและสร้างโมเดลเพื่อประเมินความเสี่ยงของภาคเกษตรในญี่ปุ่น ลูกค้าหลักเป็นรัฐบาลญี่ปุ่น รองลงมาคือกลุ่มบริษัทผู้ให้บริการ Service Provider และอีกส่วนคือกลุ่มชุมชนเกษตรกรรม (Farm Community) โดยให้บริการให้ลักษณะ Analytics on demand 

“สภาพอากาศแบบนี้เหมาะสมกับเมล็ดพันธุ์ใด ผลผลิตในฤดูกาลหน้าจะได้เท่าไหร่ ความเสี่ยงเป็นอะไรบ้าง ช่วงไหนควรเก็บเกี่ยวมากที่สุด คุ้มค่าแรงไหม เหล่านี้คือคำถามที่เราจะไปหาคำตอบให้” รัสรินทร์ เล่า

“บริษัทเราเกิดขึ้นจากการรับฟังเสียงของธรรมชาติ ทุ่งนา สิ่งแวดล้อม เสียงพวกนี้ทำให้เราเข้าใจปัญหาและความต้องการ เลยกลายเป็นชื่อ ListenField”

ข้อมูลที่ ListenField นำมาวิเคราะห์และประมวลผล มีที่มาจากหลากหลายแหล่ง ทั้งในระดับสากล รัฐบาล พาร์ตเนอร์เอกชน และทีมงานของตัวเอง โดยที่ญี่ปุ่นมีการเชื่อมโยงสภาพอากาศทุกๆ หนึ่งตารางกิโลเมตร เพื่อคำนวณปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิความเข้มแสง ที่เหมาะสมและสอดคล้องต่อการเพาะปลูกของพืช 

“เมื่อรวมข้อมูลทั้งหมดทำให้เรามีความละเอียดและแม่นยำในการอธิบายสภาพของพื้นที่นั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมันจะแม่นขึ้นเรื่อยๆ”

รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ListenField กลุ่มแคร์

ญี่ปุ่นตรงไปตรงมา–ทำงานเป็นทีม 

“มีทั้งยากและง่าย” ซีอีโอหญิงวัย 38 ปีตอบ เมื่อถูกถามถึงการทำธุรกิจในญี่ปุ่น 

เธอเล่าว่า 'ยาก' ในแง่ของการก่อตั้ง ที่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบ กฎระเบียบจำนวนมาก เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทสามารถอยู่รอดและสร้างผลประโยชน์ให้กับเกษตรกรได้จริง โดยใช้เวลาถึง 6 เดือนกว่าจะได้รับการอนุมัติ 

ขณะที่ 'ง่าย' นั้นเป็นเพราะงานวิจัย API Integration Platform อยู่ในโครงการปฏิรูปของรัฐบาล ทำให้ได้รับความเชื่อมั่นและมีลูกค้าอยู่ในมือแล้ว 

ในบทบาทผู้ประกอบการ “ความตรงไปตรงมาและความเป็นทีม” คือสิ่งที่เธอได้เรียนรู้  

“เขาทำงานเป็นหมู่คณะ ในแต่ละโครงการเขาจะรู้ว่าแต่ละคน แต่ละทีมมีจุดเด่นอะไร แล้วจะใช้จุดเด่นนั้นสร้างประโยชน์เพื่อให้เกิดความสำเร็จในภาพรวม โดยพยายามออกแบบความร่วมมืออย่างรอบคอบ ตั้งแต่ต้นกระบวนการจนถึงท้ายสุด 

“เขาสอนให้เรารู้จักการทำงานเป็นทีม มีความตรงไปตรงมา ชัดเจน เอาคุณภาพเป็นที่ตั้งโดยไม่ต้องคิดเรื่องนอกระบบหรือเรื่องใต้โต๊ะ”

รัฐบาลและเกษตรกรที่ญี่ปุ่นไม่รังเกียจเอกชน รับรู้ข้อจำกัดของตัวเองและยินดีส่งเสริมหากผู้อื่นทำได้ดีกว่า 

นุ่นเล่าว่า รัฐบาลเป็นเพียงผู้กำกับดูแล ออกแบบวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน โดยเห็นว่า เมื่อภาคธุรกิจเติบโต มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ประชาชนก็จะได้รับประโยชน์สูงสุด 

“ในการทำงานหนึ่งๆ เราทำงานกับพาร์ตเนอร์หลายส่วน เช่น บริษัทเมล็ดพันธุ์ บริษัทผู้อ่านดีเอ็นเอของพืช รวมถึงบริษัทเบียร์ ที่ต้องการผลิตฮอปส์ มีการตั้งกิจการค้าร่วม (Consortium) ประกอบไปด้วยนักวิจัย เอกชน ผู้ใช้งานระบบ โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล”

https://scontent.fbkk12-1.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/59934670_404319730124016_8864560560457383936_o.jpg?_nc_cat=101&_nc_sid=8024bb&_nc_eui2=AeGlYNfLmhVC8dnKVVMvttaupt0RtobrWO6m3RG2hutY7vMOqy8g_rvMNHq-HFhe3Ss&_nc_ohc=2-d4eW1UlX8AX_kyyrK&_nc_ht=scontent.fbkk12-1.fna&oh=13af6419c87d28ed0bb5c91075faf07e&oe=5F311F9A

หมดเวลาเป็นเหยื่อด้วย FarmAI 

ปี 2019 ListenField เปิดตัวแอปพลิเคชัน FarmAI (ฟาร์มเอไอ) หวังเปลี่ยนบทบาทเกษตรกรให้กลายเป็นผู้ออกแบบอนาคตไม่ใช่เหยื่อของความไม่รู้ ปล่อยชีวิตตามมีตามเกิด 

“เราเห็นความตั้งใจและมุมมองของเกษตรกร เขาพร้อมจะปรับเปลี่ยนตัวเอง ไม่ได้คิดแต่จะรอฟ้า รอฝน รอการเยียวยาจากรัฐบาลอย่างเดียว” เธอเล่า โดยอุปสรรคสำคัญของไทยเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นคือ ข้อมูลที่ไม่แม่นยำและกระจัดกระจายมากกว่า 

FarmAI ทำงานในลักษณะเก็บรวมรวมผสมผสานข้อมูลและความเสี่ยงจากหลากหลายแห่ง ก่อนวิเคราะห์และนำเสนอผลลัพธ์ให้กับเกษตรกร

“เขาจะได้ลองผิดลองถูกบนตัวระบบแอปพลิเคชัน แทนที่จะไปลองผิดลองถูกบนแปลงนา อนาคตเขาจะสามารถประมาณการผลผลิตได้ นำไปเชื่อมโยงกับตลาดเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างดีมานด์และซัพพลาย” เธอบอก

ปัจจุบัน ListenField อยู่ระหว่างนำเสนอแอปพลิเคชัน และทำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงความสำคัญของข้อมูลที่เป็นเสมือนทุน การสร้างชุมชน และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ซึ่งองค์กรอุตุนิยมวิทยาโลกเปิดเผยว่า เฉพาะปี 2562 เพียงปีเดียวอุณหภูมิโลกก็สูงกว่าช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 1.1 องศาเซลเชียลแล้ว

https://scontent.fbkk8-2.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/91048697_604000543489266_7933327434965843968_o.png?_nc_cat=107&_nc_sid=dd9801&_nc_eui2=AeEF6Wk_C8ZN45HXS3l6isWqbpdUaEWVDoxul1RoRZUOjHJ3PYpNaIWRL46s6vfTq3A&_nc_ohc=mxie9osztCEAX-m6Do8&_nc_ht=scontent.fbkk8-2.fna&oh=4bf0f2fe2186e887bcc4c555a3c95fb9&oe=5F31F7AA

คิดไม่ครบ ทำจนไม่เลิก

เมื่อถามถึงปัญหาในวงการเกษตรกรไทย รัสรินทร์ บอกว่าหนึ่งเรื่องซ้ำซากคือการออกนโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาแค่เพียงระยะสั้น โดยเฉพาะโครงการลักษณะเงินเยียวยา ที่อีกด้านเป็นการบอนไซ จำกัดการพัฒนาและฉุดรั้งศักยภาพของชาวบ้าน 

“ให้อยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ มีเงินใช้ไปวันๆ แต่ไม่เกิดการพัฒนา ซึ่งปัญหามีที่มาจากโครงสร้างและนโยบายที่ไม่ดี”

ปัญหาอีกระรอกคือการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐในแบบที่เธอเรียกว่า “ขาดๆ แหว่งๆ” ไม่รอบด้าน เช่น การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ แต่กลับไม่มีแรงจูงใจและตลาดรองรับ 

ทั้งหมดต้องแก้ไขในภาพใหญ่ด้วยการ 'กระจายอำนาจ' ที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ถกเถียง เรียนรู้และเห็นทางโน้มการพัฒนาของตัวเองอย่างแท้จริง 

“กระจายอำนาจเพื่อทำให้คนในพื้นที่ซึ่งรู้ปัญหาของตัวเองดี สามารถแก้ไขด้วยมุมมองของเขาเอง ดีกว่าสั่งการจากหอคอยที่ไม่ได้เข้าใจบริบทของปัญหา เราเห็นมาตลอดว่าการแก้ไขปัญหาจากส่วนกลาง มันไม่ได้เกิดการเชื่อมโยงและพัฒนาในชุมชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะสังคมการเกษตรที่กระจายตัว คำสั่งในรูปแบบเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้” 

“ถ้ากระจายอำนาจไปแล้ว การเมืองไม่นิ่ง ไม่เป็นไร ท้องถิ่นเขาเดินไปข้างหน้าแล้ว ชัดเจนแล้วว่าตัวเองต้องการอะไร รวมถึงภาคธุรกิจด้วย เขามีประชาชน มีลูกค้าที่ชัดเจน และเดินไปด้วยกัน” 

สมาร์ตฟาร์มเมอร์ เกษตกรรม AI ListenField สมาร์ทฟาร์มเมอร์

“สนุก+ประโยชน์” สมการลงตัว

ปัจจุบัน ListenField มีพนักงานรวม 16 คน รัสรินทร์บอกว่าพวกเธอยึดเอาความสนุกและประโยชน์ที่เห็นผลได้จริงเป็นที่ตั้งในการทำงาน 

“ต้องสนุกเป็นหลักเลย กลุ่มของเราเป็นพวกที่มีความคิดเห็นอะไรคล้ายๆ กัน เป็นนักวิจัยที่ต้องการความสนุก ความสนุกมันเป็นแรงขับเคลื่อนให้เรามีแรงทำงาน ยิ่งพอมันมีประโยชน์ต่อคนอื่นและได้เงินด้วย มันยิ่งตอบโจทย์กับชีวิตเรา” เธอบอกถึงวิธีคิดที่ไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้ง 

“มีวิธีคิดหนึ่งที่เราได้มาจากญี่ปุ่น เวลาเราเห็นแจกันสวยๆ สักใบ คนที่นั่นเขาจะวิจารณ์กันว่า โห สวยจังเลย ลายนั้นลายนี้ แต่ถ้าเป็นคนไทย คำถามแรกคือ ราคาเท่าไหร่ มันเป็นมุมมองที่ต่างกัน บางทีเราก็ควรจะชื่นชมความสวยงาม ความสนุกสนาน สุนทรียของชีวิต ก่อนที่จะคิดว่าเราจะรวยเท่าไหร่” 

รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ListenField กลุ่มแคร์ เกษตรกรรม

อดีตเด็กขายน้ำแข็ง – รักข้อมูล 

รัสรินทร์ เกิดเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2525 ที่ จ.นครนายก ย้อนกลับไปในวัยเด็ก การเสียคุณพ่อกอปรกับเป็นพี่สาวคนโตของน้องๆ อีก 2 คน ทำให้เธอต้องช่วยคุณแม่ทำงานในธุรกิจค้าขายน้ำแข็ง ตั้งเเต่เพิ่งเขียนหนังสือได้ 

“พ่อเสียตั้งแต่เด็ก เลยรู้สึกว่าเราต้องเป็นเหมือนเพื่อนให้กับแม่ ต้องดิ้นรน เป็นส่วนที่ทำให้เรามีเลือดของการต่อสู้” 

“ตอนเด็กๆ นั่งซาเล้งไปโรงเรียน อายเพื่อนๆ มาก แต่ตอนนี้ย้อนกลับไปมองแล้วสนุกมาก ตื่นเช้ามา เราจะต้องทำบัญชี วันนี้ใครสั่งน้ำแข็งบ้าง เอาเท่าไหร่ พอ 4 โมงเลิกเรียน ตลาดเย็นพอดี เราก็มีหน้าที่นั่งมอเตอร์ไซค์ไปกับคนงาน ไปเก็บเงินรอบตลาด” เธอเล่าและยืนยันว่ากิจการโรงน้ำแข็งที่พูดถึงไม่ได้มีขนาดใหญ่โต เป็นเพียงลักษณะเพิงหมาแหงนเล็กๆ 

รัสรินทร์ สนใจด้านข้อมูลและคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่ยังเด็ก โดยมีสาเหตุจากการชอบตั้งคำถามและค้นหาคำอธิบายในทุกเรื่องที่สงสัย 

“เราชอบข้อมูล เพราะมันตอบคำถามเราได้ว่า สิ่งต่างๆ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้” 

อีกเรื่องที่สนับสนุนให้เธอได้คลุกคลีกับคอมพิวเตอร์ คือ การได้หลบแดดหน้าเสาธง

“เราตั้งคำถามมาตั้งแต่เด็กว่า ทำไมเราต้องเข้าแถวหน้าเสาธงด้วย อากาศเมืองไทยแสนจะร้อน เหงื่อออกแล้วเราจะมีความสุขในคาบเรียนแรกหรือเปล่า ก็ไม่ เราแก้ปัญหาด้วยการไปสมัครเข้าชมรมคอมฯ ตอนเช้าไม่ต้องเข้าแถว มีหน้าที่เก็บกวาด ทำความสะอาดห้องคอมฯ เราเลยเข้าห้องคอมฯ เพราะไม่อยากร้อน” ซีอีโอสาวหัวเราะเบาๆ กับอดีตของตัวเอง  

รัสรินทร์ บอกทิ้งท้ายถึงเป้าหมายของ ListenField ว่าต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตและความสุขของเกษตรกร โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเข้าไปทำลายจุดเริ่มต้นของความล้มเหลวอย่างแท้จริง

  • เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

- ความสนใจนอกเหนือจากงานของรัสรินทร์ คือการเล่นกีฬา อย่างสนุกเกอร์ เทนนิส กอล์ฟ และจักรยาน 

- ล่าสุดเธอเพิ่งซื้อมอเตอร์ไซค์ 'ไทรอัมพ์' ที่ขับแล้วบอกว่า “ฟินมาก”  

- รัสรินทร์ชอบท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ไปมาแล้วกว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยตัดสินใจไม่วางแผนเพื่อสัมผัสกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คน  

- การพบเจอความแตกต่างเป็นสิ่งที่เธอชอบ โดยบอกว่าทำให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจมนุษย์มากขึ้น 

- รัสรินทร์ร่วมกลุ่ม “CARE คิด เคลื่อน ไทย” เพราะอยากร่วมพัฒนาภาคเกษตรไทยโดยใช้นวัตกรรม

นุ่น รัสรินทร์ListenField


วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog