ไม่พบผลการค้นหา
ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟุกุโอกะ เผยกีฬา "ปิงปอง" อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน พบผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ซินหัวรายงานว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟุกุโอกะพบว่า ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่เข้าร่วมการวิจัยมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นเกี่ยวกับอาการของโรค หลังร่วมกิจกรรมออกกำลังกายด้วยการเล่นปิงปองสัปดาห์ละ 1 ครั้งติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน

กีฬาปิงปองเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก (aerobic) ซึ่งมีการสำรวจพบว่าประชากรส่วนมากที่เล่นกีฬาประเภทนี้มีพัฒนาการด้านการประสานกันระหว่างมือและตา มีปฏิกิริยาโต้ตอบฉับไวยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นกีฬาที่ช่วยกระตุ้นสมอง

งานวิจัยซึ่งจะได้รับการนำเสนอภายในการประชุมประจำปีของสถาบันประสาทวิทยาสหรัฐฯ ช่วงเดือน เม.ย. - พ.ค. ที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา บันทึกพัฒนาการของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่มีอาการระดับน้อย-ปานกลางจำนวน 12 คน อายุเฉลี่ย 73 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคดังกล่าวมาแล้วเฉลี่ย 7 ปี

ผู้เข้าร่วมวิจัยทั้ง 12 คนได้ร่วมกิจกรรมยืดเส้นคลายกล้ามเนื้อ ก่อนเล่นปิงปองภายใต้การดูแลของนักกีฬาผู้มีประสบการณ์ด้านนี้ เป็นเวลา 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และเข้ารับการประเมินอาการของโรค 2 ครั้ง คือหลังร่วมการทดลองเป็นเวลา 3 เดือน และหลังการทดลองสิ้นสุดลง

นักวิจัยระบุว่าผลประเมินรอบ 3 เดือนและ 6 เดือนเผยให้เห็นว่า ผู้เข้าร่วมการวิจัยมีพัฒนาการในทางที่ดียิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งด้านการพูดจา การเขียน การแต่งตัว การลุกจากเตียง และการเดิน ยกตัวอย่างเช่น ช่วงต้นการวิจัยผู้ป่วยต้องใช้ความพยายามโดยเฉลี่ย 2 ครั้งขึ้นไปจึงจะลุกจากเตียงได้ ทว่าเมื่อเสร็จสิ้นการวิจัยผู้ป่วยสามารถลุกได้ภายใน 1 ครั้ง

นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังแสดงพัฒนาการเด่นชัดในด้านอื่นๆ อาทิ สีหน้า ท่าทาง ความยืดหยุ่นของร่างกาย ความรวดเร็วในการเคลื่อนไหวที่เพิ่มขึ้น และอาการมือสั่นที่ลดลง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวัดระดับความตึงของกล้ามเนื้อคอตั้งแต่ระดับ 0-4 พบว่าผู้ป่วยที่เข้าร่วมมีอาการตึงน้อยลงจากระดับ 3 (ตึงปานกลาง) ลงมาอยู่ที่ระดับ 2 (ตึงน้อย) โดยเฉลี่ยเมื่อการวิจัยสิ้นสุดลง

“แม้ว่าการวิจัยนี้จะเป็นการวิจัยขนาดเล็ก แต่ผลลัพธ์ที่ได้ช่วยสร้างกำลังใจไม่น้อย (สำหรับผู้ป่วยและผู้ที่เกี่ยวข้อง) เนื่องจากการวิจัยชี้ให้เห็นว่าเทเบิลเทนนิส ซึ่งเป็นรูปแบบการบำบัดที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง อาจบรรเทาอาการของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันได้” เคนอิจิ อิโนะอุเอะ ผู้เขียนวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟุกุโอกะกล่าว พร้อมเสริมว่าทีมกำลังวางแผนจะทำการวิจัยขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อยืนยันผลของการวิจัยในครั้งนี้