ไม่พบผลการค้นหา
กองทัพไทยมีรายได้นอกงบประมาณจากธุรกิจหลายประเภท ทั้งสนามมวย สนามกอล์ฟ ปั๊มน้ำมัน สนามม้า สถานีวิทยุโทรทัศน์ ฯลฯ ทำให้กองทัพถูกวิจารณ์เรื่อยๆ และปะทุขึ้นอีกครั้งช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย

นิกเคอิเอเชี่ยนรีวิว สื่อด้านธุรกิจการเมืองของญี่ปุ่น เผยแพร่บทความชื่อว่า Coronavirus exposes Thai military's off-the-books enterprises (ไวรัสโคโรนาเปิดโปงธุรกิจนอกงบประมาณของกองทัพไทย) เมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยกล่าวถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทย ที่ต้นตอการติดเชื้อในหลายกรณีเกี่ยวพันกับสนามมวยในความดูแลของกองทัพ

เนื้อหาในบทความดังกล่าวระบุว่า ไวรัสร้ายแรงสายพันธุ์ใหม่นี้เกี่ยวโยงกับเครือข่ายธุรกิจของกองทัพไทยอันทรงอิทธิพล ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะการพูดถึงวัฒนธรรมที่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล (culture of impunity) และปกป้องเครือข่ายผู้มีเงินที่ดำเนินมานานหลายทศวรรษ

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำนวนมากชี้ตรงกันว่า สนามมวยเวทีลุมพินีในกรุงเทพมหานคร เป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มคนอย่างน้อย 50 ราย จากจำนวนผู้ติดเชื้อนับพันคนที่ได้รับการยืนยันแล้วทั้งหมดทั่วประเทศ และคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อจากการเข้าร่วมกิจกรรมที่สนามมวยดังกล่าวอาจจะสูงถึง 130 ราย

'นิกเคอิเอเชี่ยนรีวิว' ได้รายงานอ้างอิงบทความของคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post สื่อภาษาอังกฤษในประเทศไทย ที่ระบุว่ามีผู้เข้าร่วมกิจกรรมราว 5,000 คน ที่สนามมวยดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 มี.ค. จนเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดแบบกลุ่มก้อน (cluster) ครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ

แหล่งข่าวในกองทัพและแวดวงการเมืองไทยยังบอกด้วยว่า การชกมวย 11 นัดที่จัดขึ้นในวันดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อการระดมทุนให้แก่เหล่าทหารร่วมรุ่นของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนปัจจุบัน ทำให้นายทหารระดับสูงที่ใกล้ชิดกับ พล.อ.อภิรัชต์ อยู่ในกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วย

กรณีดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยว่า กองทัพปล่อยปละละเลย ทำให้ไวรัสร้ายแรงแพร่ระบาดเสียเอง เพราะมีรายงานว่า หน่วยงานราชการไทยได้ส่งจดหมายขอความร่วมมือให้หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมในสนามมวยล่วงหน้าไปแล้ว

อภิรัชต์
  • พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ร่ำไห้ขณะแถลงข่าวเหตุกราดยิงในเดือน ก.พ.

'ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข' นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในประเทศไทย ประเมินว่า แหล่งรายได้ของกองทัพมาจากธุรกิจต่างๆ ราว 15 กลุ่ม ซึ่งรวมถึงกิจการสถานีโทรทัศน์ 2 แห่ง สถานีวิทยุกระจายเสียง 126 แห่ง ปั๊มน้ำมัน 100 แห่ง สนามกอล์ฟกว่า 30 แห่ง ทั้งยังเกี่ยวพันกับธุรกิจสนามม้า สนามยิงปืน ร้านอาหาร ตลาดสด สนามมวย และการร่วมลงทุนในธุรกิจก่อสร้าง 

ธุรกิจที่เป็นรายได้นอกบัญชีของกองทัพ ถูกตีแผ่สู่สาธารณะตั้งแต่เดือน ก.พ. หลังเกิดเหตุ 'กราดยิงที่นครราชสีมา' โดยมีชนวนเหตุจากความไม่พอใจของพลทหารต่อโครงการบ้านพักสวัสดิการ ซึ่งนายพลและคนใกล้ชิดในค่ายทหารที่ จ.นครราชสีมา เกี่ยวพันการทุจริต ทำให้กองทัพถูกตั้งคำถามอย่างหนักจากคนในสังคมไทย

ประกอบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ก็เป็นนายทหารผู้นำคณะรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลเมื่อ พ.ศ.2557 เสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตกที่นั่งลำบากเช่นกัน

นิกเคอิฯ รายงานด้วยว่า ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพดังมาจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะ 'อนาคตใหม่' ที่เพิ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคไป โดยระบุว่าก่อนหน้านี้ 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงกลาโหมชี้แจงข้อเท็จจริงของรายได้นอกบัญชีงบประมาณของกองทัพ รวมกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท ที่ไม่ได้ถูกส่งเข้าระบบคลังส่วนกลาง ทั้งยังไม่มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส 

ด้วยเหตุนี้ พล.อ.อภิรัชต์ ผบ.ทบ. จึงออกมาประกาศว่าจะดำเนินการรื้อระบบธุรกิจในค่ายทหาร พร้อมขีดเส้นตาย 'ปฏิรูปกองทัพ' ภายในเดือน พ.ค.2563 แต่นิกเคอิฯ รายงานโดยอ้างอิงนายพลเกษียณอายุราชการคนหนึ่ง ซึ่งเป็นแหล่งข่าวที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ ระบุว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่กองทัพจะใช้เวลาเพียงไม่กี่คืนในการเคลียร์ธุรกิจซึ่งเกี่ยวพันกับเงินหมุนเวียนหลายพันล้านบาท

นิกเคอิฯ ระบุว่า การปฏิรูปภายในกองทัพจะส่งผลกระทบตามมาอย่างแน่นอน เพราะเงินเหล่านี้เกี่ยวพันกับนายทหารระดับสูงหลายราย และถูกนำไปใช้ในสวัสดิการต่างๆ ภายในกองทัพ ไม่เว้นแม้แต่เงินช่วยเหลือในพิธีศพ

ที่มา: Bloomberg/ Nikkei Asian Review

ภาพปก: Mateusz Turbiński on Unsplash

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: