ไม่พบผลการค้นหา
นักลงทุนรายย่อยในเม็กซิโกตั้งเป้าผลิตหนังสังเคราะห์จากพืชเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมสิ่งทอ หลังมีผู้วิจารณ์อุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั่วโลกว่าเป็นตัวการปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

'มาร์เต กาซาเรซ' และ 'เอเดรียน โลเปซ' ชาวเม็กซิกันผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Adriano Di Marti ในรัฐซากาเตกัส ประเทศเม็กซิโก ลงทุนด้านการพัฒนาเส้นใยสังเคราะห์จากต้นกระบองเพชร 'โนปาล' ที่แพร่หลายในประเทศ เพื่อนำไปผลิตเป็นหนังเทียมออร์แกนิก ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะกระบองเพชรดังกล่าวพบแพร่หลายที่เมืองกวาดาลาฮารา ในรัฐฮาลิสโกของเม็กซิโก

พวกเขาต้องใช้เวลานานกว่า 2 ปีเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่การแนะนำให้เกษตรกรท้องถิ่นปลูกและแปรรูปกระบองเพชรโนปาลเพื่อให้เหมาะกับการนำไปทำเส้นใยหนังเทียม รวมถึงทดสอบกระบวนการผลิตว่าไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง จึงจะสามารถผลิตสินค้าต้นแบบออกมาได้เมื่อตอนต้นปี และนำไปโชว์ที่งานแสดงสินค้านานาชาติที่อิตาลีไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ดึงดูดผู้สนใจมาทำสัญญาซื้อขายกับพวกเขาได้แล้วจำนวนหนึ่ง

เป้าหมายที่สำคัญของการผลิตหนังเทียมจากกระบองเพชรก็เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์และการฟอกหนัง ซึ่งในระยะหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงรัฐบาลหลายประเทศที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซที่ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง พวกเขาจึงหวังว่า ผลิตภัณฑ์หนังเทียมจากกระบองเพชรโนปาลจะเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้คนในวงการต่างๆ ที่ต้องใช้เส้นใยเหล่านี้

vlcsnap-2019-10-20-15h49m42s39.pngRuptly-ผู้ประกอบการเม็กซิโกทำหนังเทียมจากกระบองเพชรvlcsnap-2019-10-20-15h49m53s146.png

สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงเป็นอันดับต่อไปก็คือเรื่องผลผลิตและการจัดการกระบวนการผลิต เพราะถึงแม้ว่ากระบองเพชรสายพันธุ์นี้จะมีอยู่มาก แต่การควบคุมคุณภาพของผลผลิตให้เหมาะสมกับการนำมาทำเป็นหนังเทียมก็มีรายละเอียดปลีกย่อยไม่น้อย และต้องใช้เวลาในการสื่อสารชี้แจงกับเกษตรกรที่เพาะปลูก เพราะพวกเขาตั้งเป้าว่ากระบวนการทั้งหมดต้องปลอดสารพิษและไม่กระทบต่อสภาพแวดล้อม

ที่ผ่านมา สื่อด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมากสนับสนุนการผลิตสินค้าแฟชั่นที่ไม่สร้างปัญหาให้กับระบบนิเวศ ก่อนจะมีหนังเทียมจากกระบองเพชร มีการพูดถึงวัสดุพลาสติกรีไซเคิลเป็นเส้นใยเพื่อผลิตเสื้อผ้ามาก่อนแล้ว รวมถึงการแปรรูปเปลือกสัปปะรด การใช้ใยกัญชง รวมถึงเส้นใยสกัดจากเปลือกส้มเพื่อทำเป็นสิ่งทอที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งระหว่างขั้นตอนการผลิตและหลังจากสินค้าหมดอายุการใช้งานไปแล้ว ซึ่งผลิตภัณฑ์บางอย่างก็ตอบโจทย์ดังกล่าว แต่บางผลิตภัณฑ์ก็ถูกมองว่าเป็นการเพิ่มขยะมากกว่าเดิมเช่นกัน

ที่มา: Fresh Plaza/ Standard Media/ Ruptly