ไม่พบผลการค้นหา
หนังที่ดูมีแนวโน้มจะ ‘แมน’ มากๆ เพราะเต็มไปด้วยเหล่าผู้ชายห้าวหาญ กลับถูกแทนที่ด้วยบรรยากาศแบบ homoerotic ตลอดทั้งเรื่อง (สังเกตได้ว่าไม่มีตัวละครผู้หญิงในหนังเรื่องนี้เลย)

แม้เราจะอยู่ในโลกยุค Netflix กันแล้ว แต่การดูหนังในโรงก็ยังเป็นสิ่งน่าหลงใหลอยู่ อย่างเช่นกรณีล่าสุดกับ Roma ที่เต็มไปด้วยฉากที่สร้างด้วยเทคนิคภาพยนตร์อันซับซ้อน หรือกระทั่งการดูหนังก่าคลาสสิกที่ไม่เคยดูในโรงมาก่อน (ทั้งพลาดตอนที่ฉายหรือเกิดไม่ทัน) อย่างเช่นกิจกรรม ‘ทึ่งหนังโลก’ ของหอภาพยนตร์ฯ ที่ฉายหนังขึ้นหิ้งหลายเรื่องที่โรงสกาล่า อาทิ Gone with the Wind, 2001: A Space Odyssey และ The Seventh Seal

อีกรายหนึ่งที่จัดกิจกรรมเอาหนังคลาสิกเข้าโรงก็คือ Documentary Club ในโปรแกรมชื่อ Doc Club Classics เริ่มต้นด้วย The Last Emperor (1987) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเสียงตอบรับไปเป็นอย่างล้นหลามจนตั๋วขายหมดทุกรอบ แถมการฉายหนังยังน่าประทับใจด้วยความพิถีพิถัน ทั้งการฉายหนังในอัตราส่วนภาพ (Aspect ratio) ที่ถูกต้อง รวมถึงการย้ำกับทางโรงว่าให้ฉายหนังจนจบเอนด์เครดิตขึ้น

เป็นที่รู้กันดีในหมู่นักดูหนังว่าทาง Documentary Club นั้นชื่นชอบริวอิจิ ซากาโมโตะ เป็นอย่างมาก จากที่เคยฉาย Coda สารคดีเกี่ยวกับตัวเขา ตามด้วย The Last Emperor ที่ซากาโมโตะเป็นผู้ประพันธ์เพลง โปรแกรมล่าสุดของทาง Doc Club ก็คือ Merry Christmas Mr. Lawrence (1983) หนังที่ซากาโมโตะควบทั้งหน้าที่แต่งดนตรีประกอบและแสดงนำ แม้ว่าเจ้าตัวจะให้สัมภาษณ์อยู่หลายครั้งว่าเขาอับอายกับฝีมือการแสดงในเรื่องนี้มาก

Merry Christmas Mr. Lawrence เป็นหนังของผู้กำกับชาวญี่ปุ่น นางิสะ โอชิมะ ดัดแปลงจากหนังสือ The Seed and the Sower (1963) ของลอเรนซ์ ฟาน เดอร์ โพสต์ ว่าด้วยกลุ่มทหารต่างชาติที่เป็นเชลยศึกในค่ายทหารญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ตัวละครเด่นประกอบด้วยโยโนอิ (ซากาโมโตะ) นายทหารญี่ปุ่นขึงขังผู้ดูแลค่าย และจอห์น ลอว์เรนซ์ ทหารอังกฤษที่สามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้ ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างมวลหมู่ทหารฉกรรจ์ จุดเปลี่ยนของเรื่องก็มาพร้อมกับทหารเชลยหน้าใหม่ แจ็ค เซลเลียร์ (เดวิด โบวี) ที่โยโนอิดูจะให้ความสนใจอีกฝ่ายเป็นพิเศษ


04.jpeg

แม้จะเป็นหนังว่าด้วยยุคสงคราม แต่ Merry Christmas Mr. Lawrence แทบจะไม่มีฉากรบราฆ่าฟันใดๆ ทั้งสิ้น มันเต็มไปด้วยบทสนทนาและกิจกรรมแต่ละวันในค่ายเชลยศึกที่ดำเนินไปอย่างอ้อยอิ่งวนเวียนประหนึ่งนิยายแอบเสิร์ด ยิ่งไปกว่านั้นหนังที่ดูมีแนวโน้มจะ ‘แมน’ มากๆ เพราะเต็มไปด้วยเหล่าผู้ชายห้าวหาญ กลับถูกแทนที่ด้วยบรรยากาศแบบ homoerotic ตลอดทั้งเรื่อง (สังเกตได้ว่าไม่มีตัวละครผู้หญิงในหนังเรื่องนี้เลย)

[บทความต่อจากนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์]



03.jpg

สาเหตุคงเป็นเพราะผู้กำกับโอชิมะกำลังตั้งคำถามและรื้อสร้างความหมายทางเรื่องเพศ ซึ่งในที่นี้คือเรื่องความเป็นชาย (Masculinity) อย่างที่ปรากฏอย่างชัดเจนว่าตัวละครหลักในเรื่องล้วนมีปมกับเรื่องความเป็นชาย ไม่ว่าจะโยโนอิที่ไม่สามารถไปร่วมก่อรัฐประหารกับเพื่อนพ้อง จนทำให้ตัวเองกลายเป็นผู้รอดชีวิตอย่างอับอาย ส่วนเซลเลียร์เคยเอาหูไปนาตาไปไร่เมื่อครั้งที่น้องชายถูกรับน้องที่โรงเรียนอย่างรุนแรงจนกลายเป็นฝันร้ายที่หลอกหลอนเขา จึงอาจกล่าวได้ว่าค่ายแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของสถานที่กักขังเหล่าผู้ชายที่กลายเป็นเชลยเพราะตกกับดักทางเพศสภาพของตัวเอง

กับดักอีกประเภทหนึ่งที่โอชิมะตั้งคำถามไว้คือเรื่องกับดักของชาติ สาเหตุที่ตัวละครเหล่านี้ต้องมาต่อสู้กันก็ด้วยความเป็นชาติและแนวคิดแบบชาตินิยม อีกทั้งยังตีความได้ว่าตัวละครโยโนอิดูเคร่งครัดตลอดเวลาก็เหมือนจะเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความเป็นชาติของประเทศญี่ปุ่น อย่างที่ลอว์เรนซ์พูดไว้ว่า “คนญี่ปุ่นนั้นเป็นชาติผู้หวาดระแวง”

อย่างไรก็ดี ความเป็นชาติก็ถูกสลายไปในฉากจบของหนังที่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ผู้หมวดฮาระ (ทาเคชิ คิตาโนะ) นั่งคุยกับลอว์เรนซ์อย่างเป็นกันเอง ในจุดนี้ความเป็นชาติไม่มีความหมายอีกต่อไป ทั้งสองเป็นเพียงชายผู้เคยใช้เวลาร่วมกันในค่ายทหารแห่งหนึ่ง

ผลงานของโอชิมะนั้นมักตั้งคำถามกับเรื่องชาติและเพศสภาพอยู่เสมอ อาทิ Death by Hanging (1968) ว่าด้วยชาวเกาหลีที่ร้องเรียนว่าทำไมเขาจึงต้องถูกประหารเพียงเพราะมีชาติพันธุ์ต่างจากคนญี่ปุ่น, In the Realm of the Senses (1976) – หนุ่มสาวที่หลีกหนีจากเหตุบ้านการเมืองด้วยการมีเซ็กซ์อย่างไม่หยุดหย่อน, Max, Mon Amour (1986) – ความรักระหว่างหญิงสาวกับลิงชิมแปนซี (!!) และ Gohatto (1999) ผลงานเรื่องสุดท้ายของโอชิมะที่เล่าถึงความสัมพันธ์แบบเกย์ในหมู่ซามูไร

แม้ว่าโอชิมะจะจากโลกนี้ไปตั้งแต่ปี 2013 แต่ผลงานหลายเรื่องของเขาก็นับว่ายังล้ำสมัยอยู่ มันอาจเป็นตัวชี้วัดว่าความคิดทั้งเรื่องเพศและชาติของเรานั้นยังล้าหลังไปกว่าหนังของโอชิมะที่สร้างไว้เป็นทศวรรษแล้ว

07.jpg


**ติดตามรอบฉายของ Merry Christmas Mr. Lawrence ได้ที่ https://www.facebook.com/DocumentaryClubTH/