ไม่พบผลการค้นหา
เศรษฐกิจอีสานในปัจจุบันมีภาพที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างบางอย่างยังคงอยู่ ‘วอยซ์ ออนไลน์’ คุยกับ 2 นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ ‘ผศ.ดร.นรชิต จิรสัทธรรม’ และ ‘ผศ.ดร.จักรกฤช เจียวิริยบุญญา’ เพื่อฉายภาพเศรษฐกิจอีสานในมุมใหม่ พร้อมกับข้อเสนอเชิงนโยบายที่นักวิชาการในพื้นที่สะท้อนถึง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ อีสาน เป็นภูมิภาคที่มีความใหญ่ ทั้งในเชิงพื้นที่ก็มีมากถึง 1.68 แสนตารางกิโลเมตร มากที่สุดในประเทศ มากด้วยจำนวนประชากรกว่า 21 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 34 ของประชากรไทยทั้งประเทศ มีจำนวน ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มากที่สุดถึง 116 ที่นั่ง อีกทั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อีสานมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี รายภาค ณ ราคาประจำปี) ที่สูงสุดในประเทศ โดยโตเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี

อีสานมุมใหม่ : ทำมาหาได้นอกภาคเกษตรเกือบร้อยละ 80

ผศ.ดร.นรชิต เล่าว่าจากข้อมูลที่เก็บในช่วง 10 ปี (2548-2558) พบว่า เศรษฐกิจอีสานในแง่ของจีดีพีรายภาค มีอัตราการเจริญเติบโตโดดเด่น และโตกว่าภูมิภาคอื่นๆ (หากตัดกรุงเทพฯ ออกไป) คือโตเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี และเป็นการขยายตัวที่มาพร้อมกับโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ จากภาพเดิมๆ ที่คนทั่วไปอาจคิดว่า เศรษฐกิจอีสานเติบโตจากภาคเกษตร ทำไร่ ทำมัน ปลูกอ้อย แต่เมื่อลงไปดูจีดีพีรายภูมิภาค หรือ Gross Regional Product แล้วพบว่า เศรษฐกิจอีสาน ณ ปี 2558 มีรายได้ที่มาจากนอกภาคการเกษตรสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 79 ส่วนภาคเกษตรมีเพียงร้อยละ 21

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าภาคเกษตรไม่ได้ทำอะไร หรือ หายไป เพราะยังไงภาคเกษตรในอีสานยังเป็นแหล่งจ้างงานหลัก แต่ในแง่สัดส่วนรายได้แล้วกลับน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนรายได้ที่มาจากนอกภาคเกษตรที่มากขึ้นอย่างชัดเจน ดังนั้น ภาพที่เคยมองว่า ชนบทอีสานเป็นสังคมเกษตรแบบจ๋า ภาพนี้ต้อง reframe ต้องปรับมุมมองกันใหม่ 

อีกทั้ง ด้วยการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ก็ทำให้การดำรงชีพของคนในชนบทอีสานยังมีแหล่งรายได้ด้านอื่นๆ นอกภาคเกษตร มีความหลากหลายของรายได้มากขึ้น เช่น ออกไปรับจ้างในพื้นที่ใกล้เคียง ในต่างจังหวัด หรือ ต่างประเทศ เป็นต้น

เครื่องมือเศรษฐศาสตร์ชี้ชัดสาขาใด จังหวัดไหนเด่น

จากการศึกษาโดยใช้ข้อมูลความโดดเด่นทางเศรษฐกิจที่หลากหลายมาคำนวณเป็นดัชนี LQ หรือ Location Quotient Index เพื่อวิเคราะห์ความชำนาญรายสาขาการผลิตของแต่ละจังหวัด ทำให้พบว่า อีสานมีเมืองที่มีความโดดเด่นทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย

โดยอาจแบ่งลักษณะเด่นของการผลิตได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ จังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากภาคอุตสาหกรรมชัดเจน คือ นครราชสีมา และ ขอนแก่น ส่วนจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากภาคการค้าและบริการเด่น คือ อุบลราชธานี อุดรธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม หนองคาย สกลนคร และชัยภูมิ

ขณะที่จังหวัดที่ยังพึ่งพิงรายได้จากภาคเกษตร เช่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ นครพนม เลย ยโสธร อำนาจเจริญ บึงกาฬ หนองบัวลำพู มุกดาหาร เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจังหวัดที่บอกว่า เป็นเมืองเกษตรกรรม ถ้านำสัดส่วนรายได้แต่ละรายกิจกรรมมาเปรียบเทียบ ก็จะพบว่า รายได้หลักก็ยังอยู่ในภาคการเกษตร

อีกทั้งด้วยความเป็นเศรษฐกิจสมัยใหม่หลังยุคอุตสาหกรรม ก็ทำให้หลายหมู่บ้านในอีสาน มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลายนอกเหนือจากภาคเกษตร เช่น เขาอาจมีร้านขายของเล็กๆ น้อยๆ ในหมู่บ้าน มีร้านรับจ้าง มีสำนักงานทนายความ บางบ้านมีที่นา ก็ไม่ได้ทำนาเอง แต่ไปทำงานอยู่ อบต. อบจ. เป็นข้าราชการ หรือ เป็นลูกจ้างของรัฐ เป็นต้น

ภาพของอีสานในปัจจุบัน จึงเป็นภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 10 ปีก่อน และเมื่อนำดัชนี LQ มาคำนวณ ก็ทำให้เห็นชัดเจนขึ้น เช่น เมืองอุตสาหกรรมอย่างนครราชสีมา กับ ขอนแก่น มีความโดดเด่นด้านการผลิต (manufacturing) สูงมาก นครราชสีมามีโรงงานกว่า 7,700 แห่ง ขอนแก่นมีกว่า 4,000 แห่ง จากโรงงานทั่วอีสานที่มีมากกว่า 43,600 แห่ง


ปัจจุบันอีสานรวยเป็นอันดับ 2 ของประเทศ

ผศ.ดร.จักรกฤช ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน อีสานนับว่ารวยเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากภาคตะวันออก (ถ้าไม่นับกรุงเทพฯ) โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2559-2560 พบว่า ภาพนี้ก็ยังเป็นอยู่และคิดว่า ปี 2561 ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไป

แล้ว 10 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของเศรษฐกิจอีสานก็ยังล้อไปกับภาพรวมของประเทศ คือเกิดการขยายตัวในภาคเกษตรน้อยลง แต่ไปเพิ่มที่นอกภาคเกษตร ซึ่งเมื่อพล็อตคำนวณดัชนี LQ ตั้งแต่ปี 2540-2558 ของจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสาน พบว่า ช่วงปี 2540 ขอนแก่นมีความเชี่ยวชาญด้านงานแอดมิน (administrative) งานเซอร์วิสซัพพอร์ตต่างๆ ขณะที่ อุดรธานีเด่นด้านงานธุรกิจบริการอาหารและสิ่งอำนวยความสะดวก นครราชสีมาเด่นด้านอุตสาหกรรม งานด้านเทคนิค วิทยาศาสตร์ สายอาชีพ และอุบลราชธานี เด่นด้านอสังหาริมทรัพย์

แต่พอมาปี 2558 หรือ 18 ปีผ่านมา พบว่า ความเชี่ยวชาญเดิมของ 4 จังหวัดใหญ่อีสานยังอยู่ แต่กลับตกลงหมด ยกเว้น นครราชสีมา ที่ความโดดเด่นด้านสายอุตสาหกรรม อาชีพ เทคนิคยังทรงตัว  

ส่วนอีก 3 จังหวัดเปลี่ยนแปลงไป เช่น ขอนแก่น จากเด่นงานแอดมิน ก็เปลี่ยนเป็นเด่นด้านการผลิต อุดรธานีจากเด่นด้านงานบริการอาหารสิ่งอำนวยความสะดวก ก็เปลี่ยนเป็นเด่นด้านเหมืองแร่ ขณะที่ อุบลราชธานี จากเด่นด้านอสังหาริมทรัพย์ ก็เปลี่ยนเป็นด้านแอดมินและเซอร์วิสซัพพอร์ต เป็นต้น

ยกตัวอย่าง ขอนแก่น มีบริษัทเด่นๆ เช่น แหอวน , ช.ทวี ที่ดังระดับโลก ส่วนอุดรธานีก็มีแหล่งแร่โปแตชที่อุดมสมบูรณ์ เกรดดีและมีบริษัทขนาดใหญ่มาเปิดดำเนินกิจการ ขณะที่ในนครราชสีมา มีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุรนารีที่ทัดเทียมได้กับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับประเทศ ส่วนอุบลราชธานี มีแหล่งท่องเที่ยว สนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงงานเซอร์วิสซัพพอร์ตต่างๆ


“ถ้าดูพลวัตรด้านการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ตามสาขาที่เป็นแหล่งรายได้อาจบอกว่า ในภาพใหญ่อีสานมูฟตามระดับประเทศ แต่ภาพย่อยอาจมีความแตกต่าง คือ ขอนแก่น เป็นการผลิต นครราชสีมา เป็นสายอาชีพ เป็นเทคนิคอลซัพพอร์ตที่ลิงค์กับกรุงเทพฯ อุบลราชธานีเป็นงานแอดมินเป็นหลัก” ผศ.ดร.จักรกฤช กล่าว




จักรกฤช เจียวิริยบุญญา

(ผศ.ดร.จักรกฤช เจียวิริยบุญญา)

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เด่นมากของอีสานและเป็นตัวขับเคลื่อนกระจายรายได้แก่ธุรกิจรายย่อยได้อย่างมากในปัจจุบันอีกอันคือ ภาคสถาบันการศึกษา ที่สามารถกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจไปแก่รากหญ้า รวมถึงกิจกรรมเศรษฐกิจนอกระบบต่างๆ ด้วย

ผศ.ดร.นรชิต ชี้ว่า อีสานมีดัชนี LQ ด้านการศึกษาโดดเด่นมากและมากกว่าภาคอื่นๆ แต่ไม่ได้ตีความว่า การศึกษาอีสานดีกว่าที่อื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ความโดดเด่นนี้ทำให้เศรษฐกิจของหลายจังหวัดในอีสานขยายตัว เช่น มหาสารคาม ขอนแก่น ที่ถ้าไม่มีมหาวิทยาลัย เมืองก็เงียบ แล้วงานที่มีรายได้ระดับ 25,000-30,000 บาท ที่สร้างระดับรายได้กลางขึ้นไป ต่างอยู่ในภาคการศึกษา

รายได้ รายจ่าย หนี้สินคนโคราช - อุดรธานียังน่าห่วง

ผศ.ดร. จักรกฤช กล่าวว่า สิ่งที่ศึกษาพบคือ ปัจจุบันนครราชสีมา และอุดรธานีมีรายได้ รายจ่าย และหนี้ต่อครัวเรือนสูง เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ และมีลักษณะเร่งตัว ส่วนขอนแก่น อุบลราชธานีลดลง

นครราชสีมาและอุดรธานีมีหนี้ครัวเรือนเร่งตัวขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก 4-5 ปีก่อน ตอนนั้นราคาสินค้าเกษตรดี คนเหล่านี้ก็มีอำนาจซื้อ และสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย กู้ง่าย แต่วันหนึ่งเมื่อราคาสินค้าเกษตรตกลง มีความผันผวนมากขึ้น และผันผวนในเชิงราคาต่ำลง สิ่งที่เขาไปกู้ยืมกับธนาคารก็เลยโป่งขึ้นมา

ขณะที่ ผศ.ดร.นรชิต ชี้ว่า คนอีสานถือครองสินทรัพย์ทางการเงินกระจุกตัวในช่วง 0-10,000 บาท คือคิดเป็นร้อยละ 26 ของประชากรทั้งหมดของอีสานที่มีประมาณ 21-22 ล้านคน แสดงว่า คนอีสานร้อยละ 26 แทบจะไม่มีเงินเก็บ ส่วนคนที่มีสินทรัพย์ทางการเงินมากกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไป มีสัดส่วนร้อยละ 0.1

คิดง่ายๆ ว่า ถ้านับเฉพาะคนที่อยู่ในวัยทำงาน ที่หักออกครึ่งหนึ่ง คือ เหลือ 11 ล้านคน หรือคิดเฉพาะคนในขอนแก่นที่มี 7 ล้านคน มีคนวัยทำงาน 1 ล้านคน จะมีแค่ร้อยละ 0.1 เท่านั้นที่มีสินทรัพย์ทางการเงิน คือพูดง่ายๆ ว่า ถ้าอยู่ขอนแก่น จะขายบ้านราคาเกิน 5 ล้านบาท จะยากมาก ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับเรื่องรายได้ รายจ่ายและหนี้สิน ที่อาจสะท้อนได้ว่า คนอีสานไม่ค่อยมีเงินเก็บ

ถือครองสินทรัพย์-กราฟฟิก

ดังนั้นในแง่ของการคิดเชิงนโยบาย อะไรที่จะเป็นความท้าทายของการถือครองทรัพย์สินทางการเงินและการกระจายรายได้ ตามสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ทำคือ การหา GINI Coefficient มองว่าการครอบครองรายได้ คือหาก GINI เท่ากับ 1 หมายถึง เหลื่อมล้ำสุด ๆ คน ๆ เดียวครองรายได้ของคนทั้งประเทศ และถ้า GINI เข้าใกล้ 0 ก็แปลว่าการกระจายรายได้ดีขึ้น และสำหรับภาคอีสาน เราก็พบว่าความเหลื่อมล้ำของอีสานล้อกับของประเทศคือ มีค่า GINI อยู่ที่ 0.4 เกือบ 0.5

แต่ถ้าดูเฉพาะความเหลื่อมล้ำของสินทรัพย์ทางการเงินของอีสาน เมื่อเทียบรวมทั้งประเทศมีค่ามากกว่า คือเมื่อปี 2557 GINI ของทั้งประเทศอยู่ที่ 0.82 แต่อีสานอยู่ที่ 0.89 ซึ่งเห็นชัดว่า คนถือครองสินทรัพย์ได้ต่ำๆ ส่วนใหญ่ไปกองอยู่ตรงนั้น มันจึงเกิดความต่างมากขึ้น และถ้าดูเฉพาะสินทรัพย์ทางการเงินที่เห็นชัดเจนว่า อีสานมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก เพราะเข้าใกล้ 1 มาก


อนาคตหนองคาย-นครพนม-มุกดาหาร กับเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ในอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่กำลังท้าทายอีสานคือการเกิดขึ้นของเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 3 จังหวัดริมแม่น้ำโขง ได้แก่ หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร

ผศ.ดร.จักรกฤช กล่าวว่า จากดัชนี LQ ภาพของ 3 จังหวัดนี้ นครพนมและมุกดาหารได้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อปี 2540 จากนครพนมโดดเด่นงานแอดมิน ซัพพอร์ต ก็เปลี่ยนเป็นด้านขนส่งสินค้ากระจายสินค้า มุกดาหารเคยเด่นด้านสุขภาพเปลี่ยนเป็นงานด้านเทคนิค วิทยาศาสตร์สายอาชีพ ขณะที่หนองคายโดดเด่นเหมือนเดิมคือด้านขนส่งสินค้ากระจายสินค้า ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเป็นเมืองชายแดนได้รับกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ประเทศไทย

ด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นทำให้รายได้ต่อคนต่อปีของคนในจังหวัดมุกดาหาร ณ ปี 2559 ของหนองคายอยู่ที่ 84,465 บาทต่อคนต่อปี นครพนมอยู่ที่ 73,088 บาท และมุกดาหารอยู่ที่ 67,103 บาท ซึ่งก็สอดคล้องกับการเติบโตของเมืองและตามการเกิดขึ้นของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว

อย่างไรก็ตาม ก็มีเรื่องที่ต้องคำนึงด้วยว่า รายได้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จากการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น จะกลับไปสู่ท้องถิ่นหรือไม่ เพราะหากคนที่มาทำกิจกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ใช่ทุนท้องถิ่น การกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์สู่รายย่อยก็อาจจะไม่ได้เห็น ซึ่งก็จะทำให้เศรษฐกิจอีสานกลับไปสู่ปัญหาเดิมคือ เรื่องการกระจายรายได้

“ถ้าคิดเร็วๆ คือ รายได้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จะต้องวิ่งเข้าสู่รายย่อยให้ได้ และถ้าเข้าถึงรายย่อยได้ พฤติกรรมเขาก็สามารถใช้ไปทั่วไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ ทุนใหญ่มาใช้พื้นที่แล้วเก็บกำไร แล้วนำกำไรไปใช้ต่อยอดในพื้นที่อื่นต่อไป” ผศ.ดร.จักรกฤช กล่าว

นโยบายเศรษฐกิจต่ออีสานในอนาคตควรเป็นอย่างไร

ผศ.ดร.นรชิต เสนอมุมมองไว้ว่า นโยบายเศรษฐกิจของประเทศจากส่วนกลางที่ผ่านมา ไม่ได้ส่งเสริมให้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจดีขึ้น และปัญหาหลักคือการกระจายรายได้ ซึ่งเป็นอย่างไรก็ยังมีอยู่อย่างนั้น แล้วเน้นการเติบโตเชิงปริมาณแต่ไม่ได้คุณภาพ เช่น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น โยนเงินลงมา ซึ่งแน่นอนสิ่งนี้เป็นมาตรการฉุกเฉินที่ต้องช่วยประชาชน แต่เราไม่เคยคิดถึงนโยบายระยะยาวที่จะกระตุ้นเรื่องคุณภาพหรือผลิตผลเลย เพราะถ้าดูเรื่องผลิตภาพในภาคอีสานจะพบว่า มีระดับที่ต่ำกว่าภาคอื่นๆ ในทุกๆ รายการ


“สำหรับอีสาน ถามว่า เศรษฐกิจเติบโตมั้ย เติบโต ถามว่าดีขึ้นมั้ย ก็ดีขึ้น แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือ ปัญหาเชิงโครงสร้างมันมีอยู่ เพราะเราไม่มีการพัฒนาเชิงคุณภาพตามมาด้วย และงานในอีสานที่จะทำให้คนมีรายได้สูงๆ ก็ไม่มี และถ้าคุณหลุดออกจากงานที่เกี่ยวกับภาคการศึกษาแล้ว แทบไม่มีงานใดเลยที่รายได้เกิน 30,000 บาท” ผศ.ดร.นรชิต กล่าว


นรชิต จิรสัทธรรม

(ผศ.ดร.นรชิต จิรสัทธรรม)

พร้อมกับให้ข้อสังเกตุว่า ถ้าไปเดินห้างในขอนแก่น เห็นคนเดินๆ อยู่ ตั้งสมมติฐานได้เลยว่า เขาเป็นครูหรือเปล่า เพราะอาชีพนี้เป็นตัวขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ในภาคอีสานได้เยอะจริงๆ เมื่อเทียบกับระดับประเทศ อย่างในกรุงเทพฯ อาชีพที่มีรายได้สูงคือ วิศวกร งานเกี่ยวกับไอที ที่มีรายได้ 4-5 หมื่นบาทขึ้นไป ขณะที่ในอีสานไม่มี ดังนั้น หากจะปรับได้ มันก็ยาก แต่มันก็มีโจทย์คือ จะสร้างงานที่มีคุณภาพ ยกระดับผลิตภาพอย่างไร เพราะถ้าผลิตภาพดีขึ้น ส่วนเกินจากรายได้ที่ดีขึ้นก็จะกระจายมาหาคน คนก็จะสามารถมีรายได้มากขึ้น และความเหลื่อมล้ำมันก็จะค่อยๆ ลดลงได้

พรรคการเมืองจะคิดนโยบายเศรษฐกิจอีสานในจุดใด

ผศ.ดร.จักรกฤช บอกว่า นโยบายพรรคการเมืองต้องเป็นนโยบายที่ไม่ใช่นโยบายระยะยาว แม้ในทางเศรษฐศาสตร์จะบอกว่า ควรเป็นนโยบายระยะยาว แต่ในแง่การขายนโยบายควรเป็นนโยบายตามเทอมการเมือง และเห็นผลชัดๆ ให้เห็นผลต่อคนส่วนใหญ่ จากกลางลงล่าง นโยบายต่างๆ ก็ต้องมาจากฐานข้อมูลของคนในพื้นที่ ให้คนในพื้นที่บอกโจทย์มา แล้วค่อยทำนโยบาย ไม่ใช่คิดเองว่าชาวบ้านชอบ ซึ่งแม้จะทำมาชาวบ้านชอบ แต่ในระยะยาวก็ไม่น่าจะได้อะไร

ส่วนนโยบายสร้างเศรษฐกิจรากฐาน ไม่ว่าจะเป็นโอทอป ประชารัฐ กองทุนหมู่บ้าน กองทุนสานพลังประชารัฐ อะไรก็แล้วแต่มันก็คือของเดิมที่เปลี่ยนชื่อ อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้สิ่งที่ขาดไปคือ การติดตามผลว่าเม็ดเงินเหล่านี้ เมื่อลงไปแล้วผลมันเป็นอย่างไร

หลายครั้งชาวบ้านอาจไม่ได้ต้องการเงิน สิ่งที่เขาต้องการคือ การสนับสนุนการพัฒนาตลาด แล้วถ้าเขาเข้มแข็งสถาบันการเงินก็จะเข้ามา หรือการทำเล็กๆ ไม่ใช่ต้องหนึ่งผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบลก็ได้ แต่ทำเป็นคลัสเตอร์ในจังหวัดก็ได้ เพราะถ้าเขาไม่มีสินค้าขาย เขาก็อาจส่งวัตถุดิบก็ได้

ผศ.ดร.นรชิต กล่าวเสริมว่า การทำนโยบายการเมืองไม่ใช่จะโยนตูมเดียว อย่างค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทแล้วจะจบ ใช่ ตอนทำมันมีอิมแพค (เกิดผล) นายทุนก็โวยกันเยอะมาก ทั้งที่ความจริงทำได้ คือ แต่ควรขึ้นเป็นขั้นบันได ซึ่งจะเอื้อให้คนทำงานมีรายได้มากขึ้น และต้องยกระดับผลิตภาพไปพร้อมๆ กันด้วย

หรือการช่วยเรื่องราคาสินค้าเกษตร ที่ผ่านมาการช่วยเรื่องราคามันเป็นมาตรการระยะสั้น แต่ถ้าจะช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้ที่ถาวร แน่นอน รัฐบาลควรออกแบบ หรือมีหลายอย่างที่ชาวบ้านอาจไม่อยากทำ แต่มันสร้างรายได้ได้จริงๆ เช่น การปลูกพืชหลังนา ซึ่งต้องยอมรับว่าเกษตรกรชินกับการปลูกข้าวนาปรัง ทั้งที่ที่ความจริง คือ ผลตอบแทนที่ได้น้อยมาก แต่เขาก็มองว่า ได้เงินมาทีเดียวเป็นก้อนใหญ่ๆ ผิดกับปลูกพืชหลังนา เช่น พริก ที่ได้เงินก้อนเล็กๆ แต่สม่ำเสมอ แล้วถ้ารวมๆ จะได้เงินเยอะกว่า มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า แต่เกษตรกรไม่อยากทำ คือทางไปมันมี แต่จะกระตุ้นอย่างไรให้เกษตรกรไปตรงนั้นให้ได้


ระดับรายได้-อาชีพ-กราฟฟิก

'กระจายรายได้-เพิ่มผลิตภาพ' 2 ปัจจัยดันเศรษฐกิจเติบโตยั่งยืน

ผศ.ดร.นรชิต สรุปบทสนทนาไว้ว่า เราเห็นภาพแล้วว่า เศรษฐกิจอีสานเปลี่ยนแปลงมาก และสัดส่วนของกิจกรรมนอกภาคเกษตรกรรมมีบทบาทสูงมาก แต่ยังมีความท้าทายหลายเรื่อง ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจอีสาน ก็ไม่ต่างจากทั้งประเทศคือ เรื่องกระจายรายได้ แต่มากกว่านั้นคือเรื่องผลิตภาพที่อีสานยังต่ำอย่างชัดเจน ซึ่งก็เป็นโจทย์ของการทำนโยบายเศรษฐกิจว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการ relocate สร้างงานใหม่ๆ ที่มีรายได้ ดึงให้คนที่มีคุณภาพที่จบจากสถาบันการศึกษาต่างๆ แทนจะไหลเข้ากรุงเทพฯ จะทำอย่างไรให้ดึงเขากลับมาอยู่ในพื้นที่ทำงานในภูมิลำเนาและสร้างผลิตภาพต่อไปได้

ขณะที่ ภาคการเกษตรที่รายได้น้อย แต่ดูดซับแรงงานเยอะๆ นั้น โจทย์จะทำอย่างไร ที่จะทำให้เขาหารายได้อื่น ๆ เช่น การปลูกพืชหลังนา หรือ การเปลี่ยนผ่านไปสู่การหารายได้นอกภาคเกษตร เพื่อทำให้เขามีรายได้ที่หลากหลายมากขึ้น ดังนั้นโจทย์การทำนโยบายในระยะข้างหน้าต้องขยับไปสู่เรื่องพวกนี้มากขึ้น มากกว่าที่จะดูแต่เรื่องราคาสินค้าในระยะสั้นแต่เพียงอย่างเดียว

ส่วน ผศ.ดร.จักรกฤช คาดหวังว่า ถ้ามองไป 4-5 ปีต่อจากนี้ ในกรณีภาคอีสาน อยากจะให้ดูเรื่องสถาบันการศึกษาทั้งในจังหวัดหลักๆ และจังหวัดเล็กๆ อยากให้ภาครัฐมีนโยบายเข้ามาเชื่อมภาคการเกษตรไปร่วมกับภาคธุรกิจและองค์กรรัฐ เพื่อให้มีน้ำใหม่ และสร้างรายได้ใหม่เข้าไปสู่ระบบ เพราะถ้าทำในระยะ 4-5 ปีก็เหมือนให้คนรุ่นใหม่ได้ไปทดลองไปทำงานร่วมกับองค์กรภาคนอกชิมลางก่อน แล้วพอถึงเวลาก็เป็นน้ำใหม่ในระบบได้ ซึ่ง