ไม่พบผลการค้นหา
ไทยมีคดี '7ครูและผู้ช่วย' สหรัฐฯ มี 'แพทย์ทีมชาติ' กระทำชำเรานักกีฬาเด็กในความดูแลหลายร้อยคน เพิ่งจ่ายค่าชดเชยบางส่วนเมื่อต้นปี แต่คนอเมริกันตั้งคำถามว่าการปฏิเสธความจริง ไม่สอบสวนคดี ยิ่งทำให้มีผู้เสียหายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแวดวงคนทำงานใกล้ชิดเยาวชน

'แลร์รี แนสซาร์' เป็นแพทย์ประจำทีมยิมนาสติกแห่งชาติสหรัฐอเมริกา และแพทย์ประจำมหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน (MSU) มานานกว่า 20 ปี เป็นคนมีชื่อเสียงและเป็นที่รักนับถือของคนจำนวนมาก คนรู้จักเคยพูดถึงแนสซาร์ผ่านสื่อว่าเขาเป็นคนใจดี โอบอ้อมอารี เสียสละ มีความมุ่งมั่น สุภาพ ไม่เคยกล่าวเรื่องตลกหยาบคายให้ได้ยิน

จนกระทั่งอดีตนักกีฬายิมนาสติกหญิงชาวอเมริกัน 2 รายเปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในสหรัฐฯ (Indy Star) เมื่อเดือน ก.ย.2559 ว่า พวกเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศเมื่อตอนเป็นวัยรุ่น ขณะเข้ารับการรักษากับ 'แพทย์ผู้มีชื่อเสียง' คนนี้ จึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ด้านลบต่อแนสซาร์ แต่ผู้ที่ถูกประณามมากกว่า คือ ผู้ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้นั่นเอง

'เรเชล เดนฮอลแลนเดอร์' ผู้ถูกละเมิดที่ยอมเปิดเผยชื่อและใบหน้าต่อสาธารณะเป็นคนแรก ระบุว่า ขณะเกิดเหตุ เธอมีอายุ 15 ปี เป็นนักยิมนาสติกคนหนึ่งที่เข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬากับแนสซาร์ และมีหลายครั้งที่เขาใช้นิ้วล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของเธอ โดยระบุว่า "เป็นขั้นตอนหนึ่งของการรักษา"

หลังจากนั้นอีกหลายปี เธอนำเรื่องนี้ไปปรึกษาพยาบาล เมื่อย้อนกลับไปดูประวัติการรักษาของแนสซาร์ เขากลับไม่เคยบันทึกถึงแนวทางการรักษาที่อ้างว่าเป็นการตรวจสอบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Pelvic Floor Therapy) ลงไปในเอกสารเลย และไม่เคยระบุว่าเธอมีอาการผิดปกติที่ต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้

เดนฮอลแลนเดอร์เรียนต่อจนจบกฎหมาย เมื่ออายุได้ 33 ปี เธอตัดสินใจเปิดเผยเรื่องการถูกละเมิดทางเพศกับ Indy Star ซึ่งขณะนั้นกำลังรายงานเชิงสอบสวนเรื่องการปกปิดข้อมูลคดีละเมิดทางเพศเยาวชนหญิงในวงการกีฬายิมนาสติกสหรัฐฯ

AFP-เรเชล เดนฮอลแลนเดอร์.jpg
  • เรเชล เดนฮอลแลนเดอร์

หลังจากนั้นเป็นช่วงที่กระแสต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ #MeToo จุดติดในวงการบันเทิงฮอลลีวูดและอีกหลายประเทศ นำไปสู่การกดดันผู้บริหารสมาพันธ์ยิมนาสติกสหรัฐฯ (USA Gymnastics) ให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง

ช่วง 1 ปีหลังจาก 'เดนฮอลแลนเดอร์' เปิดเผยข้อมูลการก่อเหตุของแนสซาร์ มีผู้หญิงอีกราว 150 คน แสดงตัวในฐานะผู้ถูกแนสซาร์ล่วงละเมิดทางเพศเช่นกัน มีทั้งคนไข้ปัจจุบันและในอดีต โดยผู้ถูกล่วงละเมิดรายหนึ่งระบุว่าขณะเกิดเหตุเธอมีอายุได้เพียง 6 ปี

ต่อจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอหมายค้นที่พักของแนสซาร์ พบภาพ-วิดีโอลามกอนาจารเด็กกว่า 37,000 ชิ้นในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล นำไปสู่การจับกุม ดำเนินคดี และมีคำสั่งให้องค์กรกำกับดูแลการแพทย์'เพิกถอนใบประกอบอาชีพเวชกรรม' ของเขา


ยิ่งสืบคดีช้าเท่าไหร่ ผู้เสียหายยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น

The New York Times รายงานเพิ่มเติมว่า สำนักงานสืบสวนกลางแห่งสหรัฐฯ (FBI) ได้รับแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับแนสซาร์มานานหลายปี แต่เริ่มสืบคดีครั้งแรกในปี 2558 ซึ่งไม่มีความคืบหน้ามากนัก จนกระทั่งสื่อท้องถิ่นและเดนฮอลแลนเดอร์เปิดเผยเรื่องราวต่อสาธารณะเมื่อปี 2559 แต่กว่าแนสซาร์จะถูกจับกุมและดำเนินคดีในชั้นศาลเมื่อปี 2560-2561 ก็ทำให้มีผู้ถูกล่วงละเมิดเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 40 ราย

กระบวนการไต่สวนของศาลสิ้นสุดเดือน ม.ค.2561 มีผู้หญิงออกมาแสดงตัวว่าเคยถูกแนสซาร์ละเมิดทางเพศรวมกว่า 500 ราย และศาลตัดสินลงโทษจำคุกแนสซาร์ในคดีต่างๆ ทั้งคดีกระทำชำเรา ละเมิดทางเพศ ครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก รวมทั้งหมด 175 ปี

'เรเชล เดนฮอลแลนเดอร์' ผู้ยอมเปิดหน้าเป็นคนแรกเพื่อเปิดโปง 'แลร์รี แนสซาร์' บอกเล่าผ่านสื่อในภายหลังว่า เธอต้องสูญเสียหลายสิ่งหลายอย่างในการเรียกร้องความเป็นธรรมในคดีนี้ เสียเพื่อน เสียเครือข่ายสมาชิกโบสถ์ในวันอาทิตย์ ทั้งยังถูกคนไม่รู้จักประณามว่าเป็นพวก "อยากดัง-เห็นแก่เงิน" ยังดีที่ผู้หญิงซึ่งถูกแนสซาร์ละเมิดออกมารวมตัวกับเธอเพื่อส่งเสียงให้คนในสังคมอเมริกันได้ยิน

นักกีฬายิมนาสติกชื่อดังระดับคว้าเหรียญรางวัลในการแข่งขันต่างๆ เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ออกมาบอกว่าตัวเองเคยถูกแนสซาร์ล่วงละเมิด เช่น 'ซีโมน ไบล์' 'แก็บบี ดักลาส' 'แม็กเคย์ลา มารอนีย์' 'แม็กกี นิโคลส์' วิพากษ์วิจารณ์ว่า สมาพันธ์ยิมนาสติกสหรัฐฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับแนสซาร์และโค้ชคนอื่นๆ มาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่ได้ทำอะไรเพื่อปกป้องผู้ถูกละเมิด เพราะเกรงว่าจะเสื่อมเสียชื่อเสียงสมาพันธ์ฯ ถือเป็นความล้มเหลวของระบบที่มีหน้าที่ตรวจสอบและป้องกันนักกีฬาที่อยู่ในความคุ้มครอง

AFP-แลร์รี แนสซาร์.jpg
  • แลร์รี แนสซาร์

กรณีของแนสซาร์ทำให้คณะกรรมการบริหารสมาพันธ์ยิมนาสติกสหรัฐฯ หลายคนลาออก รวมถึงถูกกดดันให้ลาออก ทั้งเพื่อแสดงความรับผิดชอบและเปิดทางให้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยไม่มีอำนาจภายในแทรกแซง เพราะข้อกล่าวหาว่า 'พยายามปกปิดข้อเท็จจริง' ไม่รายงานเหตุล่วงละเมิดทางเพศต่อเจ้าหน้าที่ ถือว่าผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน

จนกระทั่งเดือน ม.ค.2563 สมาพันธ์ยิมนาสติกสหรัฐฯ ยอมจ่ายเงิน 215 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6,665 ล้านบาท เพื่อชดเชยให้แก่กลุ่มนักกีฬาที่ได้รับผลกระทบจากกรณีแนสซาร์ ซึ่งร่วมกันยื่นฟ้องสมาพันธ์ฯ ในฐานะองค์กรที่ต้องดูแลนักยิมนาสติก แต่กลับเพิกเฉยเรื่องแนสซาร์ จนทำให้มีผู้เสียหายจำนวนมาก


เมื่อสังคม 'โทษเหยื่อ' ในคดีทางเพศ การป้องกัน-ระงับเหตุจึงไม่ได้ผล

สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการไต่สวนและการสืบค้นข้อเท็จจริงอีกประการก็คือ 'สังคมอเมริกัน' ซึ่งคนบางส่วนประณามผู้เปิดโปงพฤติกรรมของแนสซาร์แทน เพราะไม่เชื่อว่าบุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพนับถือจะก่อเหตุดังกล่าว

ปรากฏการณ์เช่นนี้ ดร.เจสัน ไวต์ทิง ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยบริกแฮมยัง และนักบำบัดครอบครัวในสหรัฐฯ ระบุว่า เป็นภาวะ 'ปฏิเสธความจริง' (state of denial) รวมถึง 'กล่าวโทษเหยื่อ' (victim blaming) ซึ่งภาวะเช่นนี้เป็นอุปสรรคต่อการป้องกันและระงับยับยั้งคดีทางเพศ 

ไวต์ทิงระบุว่า สาเหตุที่คนในสังคมเลือกประณามผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศแทนที่จะกดดันให้ลงโทษเอาผิดผู้ก่อเหตุ เกิดจาก 4 ปัจจัยใหญ่ๆ คือ

(1) คนส่วนใหญ่ติดอยู่กับมายาคติว่าผู้ก่อเหตุละเมิดทางเพศต้องเป็นคนชั่วร้ายอย่างไร้มิติ (The Myth of the Evil Perpetrator) คนเหล่านี้เชื่อว่าผู้ก่อคดีทางเพศจะต้องเป็นคนชั่ว มีพฤติกรรมเลวทรามน่ารังเกียจอย่างเห็นได้ชัด จึงไม่เข้าใจบุคลิกภาพที่ซับซ้อนของผู้ก่อเหตุละเมิดทางเพศ ซึ่งผู้ก่อเหตุหลายคนเป็นคนดูดี อัธยาศัยดี มีเสน่ห์ มีบุคลิกภาพที่น่าเชื่อถือ ทั้งยังมีความสามารถในด้านต่างๆ เป็นที่ยอมรับ แต่ก็ไม่อาจทำลายข้อเท็จจริงว่าเขาคือผู้ก่อเหตุล่วงละเมิดผู้อื่นได้เช่นกัน

(2) ไม่ยอมเชื่อ เพราะอยากรักษาความรู้สึกว่า 'โลกนี้ยังปลอดภัย' (Wishing the World Was Safe) ภาวะเช่นนี้ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะ 'กล่าวโทษเหยื่อ' หรือ victim blaming ปัดให้ผู้เสียหายรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพราะการกระทำของตัวเอง เช่น ผู้ถูกข่มขืนรายหนึ่งแจ้งความว่าถูกโจมตีขณะวิ่งออกกำลังช่วงประมาณ 18.00 น. บริเวณสะพานแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่องบันทึกว่า ช่วงเกิดเหตุท้องฟ้ามืดแล้ว แต่ผู้แจ้งความไปวิ่งในบริเวณดังกล่าวเพียงลำพัง

เรื่องนี้สะท้อนว่าผู้รับแจ้งเหตุ 'มีอคติ' และมองว่าถ้าผู้ถูกละเมิดหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมดังกล่าวก็จะ 'ปลอดภัย' แม้จะไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าเหตุการณ์จะไม่เกิดขึ้นในเวลากลางวัน หรือผู้ก่อเหตุอาจเป็นคนที่ผู้ถูกละเมิดรู้จักก็ได้

ผู้หญิง-ขา-ส้นสูง-ค้าประเวณี-ค้าบริการ-เซ็กส์

(3) เหยื่อไม่มี 'ภาพลักษณ์เหยื่อ' (The Wrong Kind of Victim) กรณีนี้มักเกิดกับผู้ถูกละเมิดที่ไม่ได้มีลักษณะชวนให้คนเห็นใจ ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเหยื่อ และนำไปสู่การกล่าวโทษเหยื่อว่าเป็นคนผิดอีกเช่นกัน เนื่องจากคนส่วนใหญ่มีมายาคติว่า เหยื่อจะต้องเป็นผู้อ่อนแอ หรือผู้ที่อยู่ในสภาพช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

ถ้าผู้ถูกละเมิดทางเพศตอบโต้กลับ หรือรู้จักกับผู้ก่อเหตุอยู่ก่อน หรือไม่ได้แต่งกายในแบบที่คนส่วนใหญ่มองว่า 'เหมาะสมเรียบร้อย' คำให้การของผู้ถูกละเมิดจะถูกตั้งข้อสงสัย และไม่ได้รับความเห็นอกเห็นใจจากผู้ที่มีภาพจำของความเป็นเหยื่อในรูปแบบเดียว แต่ถ้าเหยื่อเป็นผู้อ่อนแอ หรือได้รับการยกย่องว่ามีพฤติกรรมเหมาะสมเรียบร้อย จะได้รับความเห็นใจจากสังคมมากกว่ากลุ่มคนที่ไม่มีภาพลักษณ์เหยื่อ

(4) ผู้ถูกละเมิดสับสนและกล่าวโทษตัวเอง (Confusion and Self-Blame) ไวต์ทิงยกกรณีที่เกี่ยวข้องกับแนสซาร์มาอ้างอิง เพราะผู้ถูกละเมิดหลายคนยังเป็นเด็กหรือเยาวชนในขณะที่เกิดเหตุ เมื่อขอความช่วยเหลือหรือแจ้งเรื่องกับผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ เช่น อาจารย์แนะแนว โค้ช หรือที่ปรึกษาทีม รวมถึงผู้ปกครอง กลับไม่ได้การสนับสนุน เพราะผู้ที่รับเรื่องเหล่านี้มองว่าหากดำเนินการจริงจังจะส่งผลกระทบต่อทั้งตัวเด็กเองและสถาบัน

คนที่ได้รับฟังเรื่องการละเมิดจึงมักจะโน้มน้าวให้ผู้ถูกละเมิดประนีประนอมหรือเงียบเอาไว้ หลายครั้งผู้ถูกละเมิดจึงรู้สึกว่าการที่ตนเองเรียกร้องหรือสงสัยในพฤติกรรมของบุคคลที่ได้รับความนับถือจากผู้อื่นอย่างแนสซาร์ 'เป็นความเข้าใจผิด' ของตัวเอง และผู้ถูกละเมิดบางรายถึงกับร้องไห้ขอให้แนสซาร์อภัยให้ จึงเกิดความสับสนและให้ปากคำที่ขัดแย้งกันเอง จนกระทบต่อความน่าเชื่อถือของคดีในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม ไวต์ทิงสรุปว่า กระบวนการกำกับดูแลทางสังคมและการรับฟังผู้ถูกล่วงละเมิดอย่างจริงจังจะช่วยป้องกันการก่อคดีทางเพศได้ แต่ที่ผ่านมาระบบนั้นล้มเหลว เพราะคนไม่ค่อยฟังเสียงของผู้ได้รับความเสียหาย จึงสูญเสียโอกาสที่จะยับยั้งผู้กระทำผิด หมดโอกาสที่จะป้องกันคุ้มครองไม่ให้มีผู้ถูกล่วงละเมิดเพิ่มเติม และแวดวงอาชีพเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนยิ่งสมควรต้องได้รับการสอดส่องอย่างเข้มงวด


กรณีของไทย ต่อให้อ้างว่าเด็กสมยอม 'ผู้ใหญ่' ก็ผิด

ย้อนกลับมาดูกรณีครูและผู้ช่วยครู 7 คนในจังหวัดหนึ่งของไทย เป็นผู้ต้องหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุ 14 ปีที่เป็นนักเรียนในสถานศึกษาเดียวกัน กลายเป็นประเด็นร้อนแรงเพราะผู้ต้องหาปฏิเสธข้อกล่าวหาและได้รับการประกันตัว แต่ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่ง อ้างตัวเป็น 'เพื่อนร่วมอาชีพครู' แสดงความคิดเห็นว่า "ให้กำลังใจครูทั้ง 5 คนที่ข่มขืนนักเรียนหญิง คนเรามีผิดพลาดกันได้" ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นมุมมองที่อันตรายและไม่เหมาะสม

ข้อความจาก 'เพื่อนร่วมอาชีพครู' ระบุว่า "ขอบอกพวกที่ด่าๆ ครูที่ข่มขืนเด็กนะ ว่าเด็กสมยอมหรือเปล่า ถ้าใครไม่อยากให้ลูกหลานโดนครูข่มขืนก็สอนลูกตัวเองอยู่ที่บ้าน อย่าส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียน เพราะครูก็มีชีวิตจิตใจ เงี่ยนเป็น ไม่ใช่พระอิฐพระปูน ที่ไม่รู้สึกรู้สาอะไร เลิกด่าเขาได้แล้ว

ครูเขาก็มีครอบครัวที่อยู่ข้างหลังเหมือนกัน ถ้าเขาติดคุกจริงๆ แล้วใครจะดูแลครอบครัวเขาล่ะ อย่าด่าครูเขาแค่ความสะใจ

ส่วนเด็กเนรคุณที่ออกมาแฉครูขอบอกเลยว่าพวกคุณไม่มีวันเจริญ"

แม้จะเป็นเพียงความเห็นหนึ่งในสื่อออนไลน์ แต่สะท้อนให้เห็นว่า คนจำนวนหนึ่งคิดอย่างนี้จริงๆ และเป็นส่วนหนึ่งที่ปล่อยหรือส่งเสริมให้การก่อคดีทางเพศเพิ่มจำนวนขึ้นโดยที่ผู้พูดอาจไม่รู้ตัว และถ้าเป็นการพูดในฐานะ 'ครู' จริงๆ ก็ยิ่งสะท้อนว่าผู้มีหน้าที่สั่งสอนนักเรียนนั้น 'ขาดความรู้' และไม่ได้หาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องกฎหมายก่อนจะออกความเห็นผ่านสื่อ

ทั้งนี้ กฎหมายอาญาที่เกี่ยวกับกระทำความผิดในคดีทางเพศ (พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562) มีมาตราที่บ่งชี้ว่า "ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต" (มาตรา 277)

ส่วนนิยามของคำว่า 'กระทำชำเรา' คือ "การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น"

"การกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของบุคคลนั้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท" 

นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาในกฎหมายที่ระบุว่า การกระทำชำเราแก่บุคคลบางกลุ่มจะมีโทษหนักขึ้น คือ"การกระทำแก่บุพการี ผู้สืบสันดาน พี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา ญาติสืบสายโลหิต ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล ผู้อยู่ในความควบคุมตามหน้าที่ราชการ ผู้อยู่ในความปกครอง ในความพิทักษ์ หรือในความอนุบาล หรือผู้อยู่ภายใต้อำนาจด้วยประการอื่นใด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ หนึ่งในสาม"

ถ้าเป็นคดีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ การที่ผู้ใหญ่ที่บรรลุนิติภาวะ 'กระทำชำเรา' ผู้เยาว์ หรือ statutory rape ต้องตีความพร้อมกับบริบทอื่นๆ ด้วย เช่น สถานะทางสังคมหรืออำนาจที่ผู้ก่อเหตุมีเหนือกว่าผู้เสียหายที่เป็นผู้เยาว์ อาจเข้าข่ายใช้อำนวจในทางมิชอบ บีบบังคับให้สมยอม

ทั้งนี้ กฎหมายสหรัฐฯ ระบุว่า ผู้เยาว์ (minor) คือผู้ที่ยังไม่ถึงวัยที่จะยอมให้ร่วมประเวณีได้ (age of consent) บางรัฐระบุว่า การมีสัมพันธ์ทางเพศกับผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ถือเป็นการกระทำชำเราผู้เยาว์ แต่บางรัฐก็ระบุว่าผู้เยาว์คือผู้มีอายุต่ำกว่า 16 ปี แต่ความหมายสำคัญ คือ คนในช่วงวัยใดก็ตามที่กฎหมายระบุว่าเป็นผู้เยาว์ จะต้องได้รับการคุ้มครอง ไม่ให้ถูกละเมิดทางเพศโดยบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้มีบทบาทหน้าที่อันเป็นคุณเป็นโทษแก่ผู้เยาว์ หรือครอบครัวของผู้เยาว์ จะต้องไม่ฉวยโอกาสใช้สถานะดังกล่าวละเมิดทางเพศหรือกระทำชำเราโดยเด็ดขาด เพราะหลายกรณีพบว่า ผู้มีอำนาจหรือสถานะเหนือกว่า มักข่มขู่หรือบังคับให้ผู้ถูกล่วงละเมิดเป็นฝ่ายไปหาหรือไปให้ละเมิดอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง จนดูเหมือนเป็นการยินยอมพร้อมใจ

กรณีของแนสซาร์ที่เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและทีมชาติสหรัฐฯ เป็นคดีใหญ่ที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก และหลายครั้งเหตุเกิดกับเหยื่อคนเดิม จึงมีผู้มองว่า ถ้าคนในสังคมที่มีหน้าที่รับฟังและตรวจสอบ แจ้งให้เจ้าหน้าที่รับทราบดำเนินคดีตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะลดจำนวนผู้เสียหายไปได้มาก ขณะที่การปฏิเสธข้อเท็จจริงและหันไปกล่าวโทษเหยื่อ ไม่ช่วยให้สังคมปลอดภัยขึ้นแต่อย่างใด แต่ยิ่งทำให้คนกระทำผิด 'ลอยนวล' ได้นานขึ้น 

ส่วนสถิติผู้ที่แจ้งความเท็จในคดีทางเพศของสหรัฐฯ ที่สำรวจล่าสุดเมื่อปี 2553 คิดเป็นร้อยละ 6-8 ของคดีที่ได้รับการแจ้งความและดำเนินคดีทั้งหมด บ่งชี้ว่า แม้จะมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นบ้าง แต่คดีกว่าร้อยละ 90 มีผู้ถูกละเมิดทางเพศจริงๆ ขณะที่การป้องกันไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับผลกระทบจากการแจ้งความเท็จ ต้องอาศัยการรายงานข่าวหรือการกล่าวถึงคดีโดยคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: