ไม่พบผลการค้นหา
บริษัทฟินเทค อาทิ 'เพย์พาล' เริ่มปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กแล้ว หลังวงเงินช่วยเหลือของ 'เฟด' ผ่านธนาคารพาณิชย์เหลือน้อยเต็มที่

หลังจากที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) ออกมาประกาศเม็ดเงินสนับสนุนกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กผ่านวงเงินสินเชื่อกู้ยืมเพื่อการรักษาตำแหน่งงาน ในกรอบ 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 11.4 ล้านล้านบาท ล่าสุดหน่วยงานบริหารจัดการธุรกิจขนาดเล็กของสหรัฐฯ (เอสบีเอ) ออกมาประกาศเมื่อ 16 เม.ย.ว่า เม็ดเงินดังกล่าวถูกจัดสรรเกือบครบแล้วและจะหยุดรับคำร้องการขอสินเชื่อจากบริษัทขนาดเล็กโดยทันที 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา 'เพย์พาล' แพลตฟอร์มการเงินออนไลน์ออกมาประกาศว่าบริษัทได้รับคำอนุญาตจากเอสบีเอเป็นรายแรกให้สามารถปล่อยสินเชื่อแก่บริษัทขนาดเล็กได้แล้วหลังต้องใช้เวลาต่อรองอยู่หลายสัปดาห์

ใน แถลงการณ์ของเพย์พาล 'แดน ชูลแมน' ซีอีโอของบริษัทชี้ว่า

  • "กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตไวรัสโคโรนา มันมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องให้ธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อรักษาตำแหน่งงานและสวัสดิการของคนงานเอาไว้ให้ได้มากที่สุด นี่เป็นการแข่งเพื่อรักษาตำแหน่งงานในปัจจุบันและอนาคตเอาไว้"
เพย์พาล - แดน ชูลแมน - ซีอีโอ -AFP
  • 'แดน ชูลแมน' ซีอีโอของเพย์พาล

เพย์พาลเปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา บริษัทได้จัดสรรเงินกู้ไปแล้วกว่า 900,000 ธุรกรรม ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงิน 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 488,000 ล้านบาท แก่ธุรกิจขนาดเล็กมากกว่า 305,000 ราย 

หลังจากมีประกาศออกมาจากเพย์พาล กลุ่มบริษัทฟินเทคอื่นๆ อาทิ 'สแควร์' ซึ่งเป็นบริษัทลูกของทวิตเตอร์ รวมไปถึง 'ควิกบุ๊คส์ แคปิตอล' และ 'ฟันดิง เซอเคิล' ก็ทยอยออกมาประกาศการผ่านเกณฑ์จากเอสบีเอเช่นเดียวกัน 


บทบาทที่ทำได้ดีกว่า

ที่ผ่านมา เหล่าบริษัทฟินเทคต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการโน้มน้าวรัฐสภาให้สามารถเข้าร่วมโปรแกรมปล่อยเงินกู้ให้กับกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก แม้บริษัทจะชี้ให้เห็นถึงประสบการณ์ที่มีมากกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ที่มีปัญหาทั้งเว็บไซต์ล่ม รวมไปถึงการเลือกปฏิบัติเมื่อมองในมิติการพิจารณาสินเชื่อของผู้ยื่นกู้

'มาร์ก พาลเมอร์' นักวิเคราะห์การเงินจาก บีทีไอจี ชี้ว่า ธนาคารพาณิชย์บางแห่งจำเป็นต้องใช้เวลาราวๆ 2 ชั่วโมงในการรวบรวมข้อมูลจากบริษัทที่มายื่นคำร้อง ก่อนจะใช้เวลาอีกอย่างน้อยเป็นสัปดาห์ในการตรวจสอบข้อมูลเหล่านั้น ขณะที่บริษัทฟินเทคสามารถดำเนินการต่างๆ แบบอัตโนมัติและใช้เวลาน้อยกว่ามาก 

นิวยอร์ก - สหรัฐฯ - โควิด - ร้านค้า - AFP

ด้านฟันดิง เซอเคิล ชี้ว่าบริษัทมีความสามารถที่จะปล่อยสินเชื่อใน 49 รัฐ ของสหรัฐฯ ภายในระยะเวลาเพียง 3 วัน ด้วยวงเงิน 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/เดือน (8,100 ล้านบาท) หรือประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี (97,700 ล้านบาท) และเมื่อคิดเป็นจำนวนธุรกิจ บริษัทชี้ว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ราว 2,254 สินเชื่อ/เดือน 

นอกจากความสามารถเรื่องระบบประมวลผลแล้ว กลุ่มบริษัทฟินเทคยังชี้ว่าธุรกิจขนาดเล็กล้วนเป็นลูกค้าของตนอยู่แล้วทั้งสิ้น เนื่องจากผลพวงของวิกฤตการเงินในช่วง 10 ปีที่แล้ว ทำให้ธนาคารพาณิชย์เลือกจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจขนาดเล็ก จนทำให้กลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องมาพึ่งเงินทุนจากฟินเทคตั้งแต่ก่อนมีโควิด-19 แล้ว 

ปัจจุบันตัวเลขธุรกิจที่ใช้บริการเพย์พาลมีอย่างน้อย 10 ล้านราย ขณะที่ซอฟต์แวร์บัญชีของควิกบุ๊คส์ แคปิตอลมีผู้ใช้งานราว 6 ล้านบัญชี นอกจากนี้ เมื่อไปดูสัดส่วนสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ปล่อยให้กับกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ข้อมูลของหน่วยงานประกันเงินฝากของสหรัฐฯ ชี้ว่า ตัวเลขจากกลางปี 2558 ถึงกลางปี 2562 ลดลงมากกว่าหนึ่งในห้า ในทางตรงกันข้าม ตัวเลขปล่อยสินเชื่อของเพย์พาลให้บริษัทเหล่านั้นกลับเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่า 


หันกลับมามองไทย

จริงๆ แล้วธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีโครงการที่ช่วยเหลือเอสเอ็มอีในมิติที่คล้ายคลึงกับสหรัฐฯ คือผ่านมาตรการปล่อนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟต์โลน ในกรอบวงเงินประมาณ 500,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนเหล่านี้ก็ไม่ได้รับการรับประกันว่าเมื่อยื่นกู้แล้วจะได้เงินทุนดังใจหวังทุกราย และคำอนุมัติขาดก็ขึ้นอยู่กับธนาคารพาณิชย์

นอกจากนี้ ประเทศไทยในปัจจุบันก็ยังไม่มีบริษัทฟินเทคที่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยสินเชื่อได้แบบสหรัฐฯ มารองรับผู้ประกอบการด้วย เพราะยังอยู่แค่ในสนามทดสอบ (regulatory sandbox) ของ ธปท.เท่านั้น จึงเป็นไปได้ว่าผู้ประกอบการขนาดเล็กของไทยจำนวนหนึ่งอาจไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ควรจะเป็นหากพวกเขาถูกปฏิเสธเงินทุนสนับสนุนจากธนาคารพาณิชย์ที่เป็นตัวเลือกเดียวที่ธุรกิจเหล่านี้มี

อ้างอิง; WSJ, BI, Bloomberg Law, Forbes, CNBC

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;