ไม่พบผลการค้นหา
แม้ คสช. จะสิ้นสภาพ 'รัฐบาลทหาร' เมื่อ ครม. ประยุทธ์ 2/1 เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่หลายฝ่ายยังคงความกังวลว่าทหาร จะยังคงมีบทบาทในกิจการของ 'พลเรือน' ผ่านกลไกของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ต่อไป

คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่51/60 ผุดอภิมหา กอ.รมน.

คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 51/2560 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ส่งผลให้ กอ.รมน. มีอำนาจอย่างกว้างขวาง จากเดิมที่เป็นเรื่องของบุคลากรภายในกองทัพเป็นหลัก แต่ในมาตรา 11/1 11/2 และมาตรา 13/1 13/2 ว่าด้วย กอ.รมน.ภาค ที่มีแม่ทัพภาคเป็นหัวโต๊ะ และกอ.รมน.จังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวโต๊ะ ซึ่งก็ต้องรับมอบนโยบายจากแม่ทัพภาค ก็เพิ่มให้มีหัวหน้าส่วนราชการอย่าง อธิบดีอัยการภาค ผู้บังคับตำรวจภูธรภาค อัยการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด มาร่วมเป็นกรรมการด้วย

เมื่อต้นน้ำและกลางน้ำของกระบวนการยุติธรรมอย่างตำรวจและอัยการมาอยู่รวมกัน จึงเป็นคำถามว่า การฟ้องร้องต่างๆ จะตกอยู่ภายในการชี้นำของทหารหรือไม่ และด้วยโครงสร้างเช่นนี้ แน่นอนว่าภารกิจด้านความมั่นคงภายในทั้งระดับภูมิภาคและจังหวัดนั้น มี กอ.รมน.เป็นแกนกลาง สวนทางการรับรู้ของสังคมตลอดมาว่า ความมั่นคงภายในนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

"อภิมหา กอ.รมน." จึงเป็นคำเรียกขานต่อการขยายบทบาทจากกองทัพผ่านคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่51/2560 ของ 'สุรชาติ บำรุงสุข' นักวิชาการด้านความมั่นคง ในบทความ "รัฐซ้อนรัฐ อภิมหา กอ.รมน.กับอนาคตประเทศไทย" บน มติชนออนไลน์ ทั้งยังชี้ว่า นี่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนในสังคมไทย ที่"รัฐทหาร" ถูกตั้งขึ้นอย่างถาวร และแสดงความห่วงกังวลกับบทบาททางการเมืองต่อไปว่า จะกลายเป็น "รัฐซ้อนรัฐ" ในการบริหารราชการแผ่นดินยามปกติ

อำนาจล้นเช่นเกสตาโป แทบไร้การตรวจสอบถ่วงดุล

อำนาจของกอ.รมน. ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เมื่อมีเหตุกระทบต่อความมั่นคง แต่ไม่ถึงขั้นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามมาตรา 18 ก็ดูแทบไร้ขีดจำกัด มีทั้งอำนาจสั่งเจ้าหน้าที่รัฐให้ปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติการ สั่งห้ามบุคคลเข้าหรือออกอาคาร สถานที่ ห้ามออกนอกเคหสถาน ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะ และควบคุมการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้

ไม่นับอำนาจเกี่ยวเนื่องตามกฎหมายฉบับอื่น เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่ถูกแก้ไขและผลักดันในยุคของ คสช. ซึ่งถูกภาคประชาชนและภาคประชาสังคมจำนวนมากตั้งคำถามถึงการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพผ่านคำว่าความมั่นคงของรัฐ 

 "...บรรดาข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำดังกล่าว ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง หมายความปัจเจกบุคคล ไม่สามารถฟ้องร้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐด้วยศาลปกครอได้" พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึง "อำนาจอันล้นเกินของ กอ.รมน." ในแง่การตรวจสอบถ่วงดุล พร้อมขยายความต่อไปว่า

แม้อำนาจตามมาตรา 23 จะกำหนดให้อำนาจหน้าที่ กอ.รมน. อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม แต่การจะฟ้องร้องได้ การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐต้องสิ้นสุดแล้ว ซึ่งทำได้เพียงพิจารณาเป็นรายคดีไป และต่อให้คำสั่งดังกล่าวของรัฐละเมิดกฎหมายและสิทธิของประชาชน ศาลยุติธรรมก็ไม่อาจส่ังยกคำสั่งดังกล่าวได้ และบทลงโทษยังเบาบางมาก เมื่อเทียบกับการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน คือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  

ด้วยอำนาจอันไร้ขีดจำกัดนี้เอง พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จึงนิยามว่า มันคือเกสตาโปในสมัยนาซี เข้าถึงได้ทุกบ้าน เข้าถึงได้ทุกแห่ง และถ้าประชาชนอยากจะเรียกร้องแก้ไขเปลี่ยนแปลง ก็ต้องไปร้องที่องค์กรอิสระ ซึ่งสุดท้ายองค์กรอิสระก็อยู่ภายใต้การกำกับของ ส.ว.อีกที ซึ่ง คสช.เป็นผู้แต่งตั้งมา ดังนั้นสิ่งต่างๆเหล่านี้คือวงจรของคณะ คสช.ซึ่งยังไม่หมดไป

ประยุทธ์ ทหาร กองทัพ 0_Hkg10100219.jpg

คืนชีพยุคทองนักรัฐประหาร สิ่งตกค้างจากสงครามเย็น

กอ.รมน. ถือกำเนิดจากการแปรสภาพ กองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.) เมื่อปี 2516 ภายหลังสิ้นสุดสงครามเย็น ภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ก็ไม่ใช่โจทย์ความมั่นคงของรัฐไทยอีกต่อไป จึงมีการปรับบทบาทให้รับผิดชอบภารกิจเฉพาะทางเกี่ยวกับความมั่นคงชายแดน เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาชนกลุ่มน้อย ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง และปัญหาจังหวัดชายแดนใต้

สถานภาพของ กอ.รมน.ยังไม่เป็นหน่วยงานถาวร การจัดตั้งหรือยกเลิกนั้นทำได้ง่ายดายผ่านคำสั่งนายกรัฐมนตรี โครงสร้างหน่วยงานไม่ได้ผูกขาดอยู่ที่กองทัพบก มี ผอ.รมน.คือ นายกฯ รองผอ.รมน.คือ ผบ.สส. ปลัดกระทรวงมหาดไทย และตัวแทนฝ่ายการเมือง ส่วนผช.ผอ.รมน. 5 ตำแหน่งคือ ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. ผบ.ตร และอธิบดีกรมการปกครอง  

กระทั่งเข้าสู่ทศวรรษทองของนักรัฐประหาร ในปี 2549 มีคำส่ังสำนักนายกฯที่ 205/2549 วันที่ 30 ต.ค. 2549 ให้ ผบ.ทบ.เป็นผอ.รมน. ก่อนที่สภาแต่งตั้งอย่างสนช.ก็ได้ทำคลอดพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 และมีคำสั่งนายกฯ 179/2552 ส่งผลให้กอ.รมน.เป็นส่วนราชการที่มีรูปแบบเฉพาะ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีนายกฯเป็นผอ.รมน. ผบ.ทบ. เป็นรองผอ.รมน. มีการจัดโครงสร้างอำนาจหน้าที่แบ่งส่วน และมีอัตรากำลังจากทหาร ตำรวจ พลเรือน ทั้งประจำและช่วยราชการ

ล่าสุด คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 51/2560 ได้แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ขยายขอบเขตอำนาจ หยั่งรากลงในระดับภูมิภาคและจังหวัด ช่วงคสช.เรืองอำนาจก็เป็นมือไม้ ในโครงการสำคัญทั้งร่วมพิจารณาวาระการจัดทำแผนปฏิรูปและยุทธ์สาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งศูนย์ประสานงานตามโนยบายปรองดองแห่งชาติทั่วประเทศ และขับเคลื่อนโครงการประชาธิปไตยไทยนิยม-ยั่งยืน     

ปักหมุด คสช.

ภาคประชาชน-7พรรคฝ่ายค้าน ร่วมจัดการมรดก คสช. 

"การจะคงอำนาจแบบนี้ไว้ก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นอำนาจในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ดีกว่าเอะอะแล้วประกาศกฎอัยการศึก" ตามความเห็นของ 'วิษณุ เครืองาม' รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ก็ยิ่งตอกย้ำว่า กอ.รมน.คือกลไกสำคัญของกองทัพที่ใช้เวลานับสิบปีแทรกซึมเข้าสู่ระบบการเมืองไทย ซึ่งอาจทำให้การรัฐประหารคลาสสิก ประกาศกฎอัยการศึกเบิกร่อง ไม่จำเป็นอีกต่อไป

ทว่าคงไม่ใช่งานง่าย เมื่อภาคประชาสังคมอย่าง ไอลอว์ ได้ล่ารายชื่อครบ 10,000 รายเสนอร่างกฎหมายปลดอาวุธ คสช.ซึ่งมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 51/2560 รวมอยู่ด้วย

รวมทั้ง 7 พรรคฝ่ายค้านก็เปิดเกมรุกจัดการมรดก คสช. ทั้งเสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษา ผลกระทบจากการใช้มาตรา44 เรื่อยไปจนถึง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการรับมือและหยุดหยั้งการรัฐประหาร หวังให้กองทัพกลับกรมกอง เลิกยึดอำนาจฉุดรั้งสังคมไทยไม่ให้ก้าวหน้าเสียที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง